สสว. เตือนเอสเอ็มอีระวังมิจฉาชีพแฝงคราบช่วยเข้าถึงการอนุมัติสินเชื่อ

สสว. เร่งอุ้มเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤตศก.ไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย พร้อมเตือนมิจฉาชีพแฝงคราบช่วยเข้าถึงการอนุมัติสินเชื่อ

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า ตามที่ สสว.ได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือ เอสเอ็มอี ดี แบงก์ ดำเนินโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อย ซึ่งได้ดำเนินมาตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2563 นั้น ล่าสุดโครงการดังกล่าวมีผู้ประกอบการยื่นสมัครสินเชื่อจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนอยู่ในสถานะการพิจารณาคำขอและอยู่ในกระบวนการอนุมัติสินเชื่อกว่า 5,000 ราย เชื่อว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนที่ดีมากขึ้นส่งผลถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานได้ในลำดับต่อไป โดยโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อย เป็นโครงการสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ต้องการมีแหล่งเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูและขยายธุรกิจและลดปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นอีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในการนำไปพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อลดปัญหาการปิดกิจการและการจ้างงานและเป็นเงินทุนเสริมสภาพคล่องในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว

สำหรับรายละเอียดของวงเงินสินเชื่อ แบ่งเป็นบุคคลธรรมดาวงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาทและนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มวงเงินกู้ไม่เกิน3,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี สามารถผ่อนชำระสูงสุดได้ถึง 7 ปี และเวลาปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี โดยเอสเอ็มอีที่ประสงค์ขอสินเชื่อต้องไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐโครงการเงินทุนพลิกฟื้นฯ โครงการฟื้นฟูฯ และยังต้องไม่เป็นหนี้เอ็นพีแอล ไม่ถูกดำเนินคดี และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันยังมีสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติมคือมิจฉาชีพที่อาจแฝงมาในนามของผู้ให้และผู้อนุมัติสินเชื่อโดยเฉพาะเว็บไซต์ปลอมที่มักจะอาศัยประโยชน์จากข้อความที่ดึงดูดความสนใจให้คลิกเข้าไปชมเกี่ยวกับข้อมูลด้านการเงินที่บิดเบือนจากความเป็นจริงซึ่งจะสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจขอสินเชื่อ รวมถึงลูกค้าธนาคารต่างๆ พร้อมด้วยการอ้างตัวเป็นตัวแทนในการพาเข้าถึงสินเชื่อโดยมีเงื่อนไขในการเสียค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการ ซึ่งขอย้ำว่าโครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อย ของสสว.นั้นไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น และอีกรูปแบบคือกลโกงที่มาในคราบของคอลเซ็นเตอร์ที่ส่วนใหญ่ปลายสายมักอ้างตัวเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อการหลอกโอนเงินผิด หรืออ้างว่ามีผู้นำเอกสารไปขอวงเงินสินเชื่อแล้วให้โอนเงินกลับมายังบัญชีของมิจฉาชีพเพื่อทำการตรวจสอบหรือคืนเงินที่มีผู้โอนไปผิด ดังนั้น ช่วงนี้จึงอยากให้ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆผ่านทางสถาบันการเงินและหน่วยงานของรัฐที่เชื่อถือได้เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image