‘บีทีเอส’ ยื่นค้านเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม

บีทีเอส ยื่นคัดค้านการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 กันยายน ณ ชั้น 16 อาคารศรีจุลทรัพย์ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้ายื่นหนังสือถึง ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อร่วมตรวจสอบกรณีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วันที่ 28 ส.ค. 2563 ได้ทราบมติของคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการฯ โดยให้นำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ประเมินรวมกับการเงิน ในสัดส่วนด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านการเงิน 70 คะแนน จากเดิมที่มีการพิจารณาเฉพาะข้อเสนอด้านการเงิน หากเอกชนรายใดเสนอราคาต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ให้โอกาสมาแลกเปลี่ยนความรู้ และขอบคุณ พี่น้องสื่อมวลชนทุกท่านที่ให้ความสนใจเรื่องนี้ วันนี้ที่ทางบีทีเอสได้มาพบองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อปรึกษา และร่วมกันตรวจสอบการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

Advertisement

“ ประเด็นหลักคือขายซองไปแล้ว และมีการปรับเปลี่ยนทีโออาร์สาระสำคัญหรือการประเมิน ผู้เสนอ บีทีเอส มองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องยื่นศาลปกครองในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ใช้กติกาในการประเมินอย่างเดิม เพราะกติกาเดิมเรามองว่าเป็นกติกาที่โปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งเป็นกติกาที่ใช้ในโครงการอื่นมาตลอด โดยบีทีเอสก็เป็นหนึ่งผู้เข้าร่วมการประมูลมาตลอดเช่นกัน และโครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ใช้การประมูล โดยการให้คะแนนเทคนิคมารวมกับราคา ประเด็นนั้นบีทีเอสมองว่าขึ้นอยู่กับวิธีการให้คะแนน พอรวมกับคะแนนเทคนิคก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจค่อนข้างเยอะอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ เป็นวันครบกำหนดที่ จะต้องมีการยื่นซองประมูลแล้ว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่ทันได้” นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมายที่จะเข้าไปดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง แต่เราให้ความสนใจในเรื่องของความโปร่งใสในการดำเนินการประมูลโครงการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งโครงการที่เกี่ยวกับการประมูล เมกะโปรเจคต์ต่างๆ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันก็ได้มีส่วนร่วมมาหลายโครงการ สำหรับโครงการนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีผลประโยชน์สูงสุด ในบรรดาเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ เมื่อมีการปรับเปลี่ยนกติกา เราจำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้

“ เมื่อออกทีโออาร์แล้ว ขายซองแล้ว ถ้าเป็นการค้าเอกชนเท่ากับเห็นตัวผู้ชกแล้ว เราจะรู้ทันทีว่าแต่ละรายที่เขามาแข่งขันมีจุดเด่นจุดแข็งอย่างไร เราจะรู้ว่าถ้าจะเอาชนะคู่แข่งรายนี้จะต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้ามาเปลี่ยนกติกาหลังจากรู้ตัวผู้ซื้อซองแล้ว ถือว่าไม่ยุติธรรม”
ดร.มานะ กล่าวต่อว่า “สำหรับรถไฟฟ้าที่ผ่านมา 3 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ทั้ง 3โครงการนี้รัฐบาลกำหนดให้ใช้ข้อตกลงคุณธรรมในการประมูลและสร้างความโปร่งใส ถ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รัฐบาลประกาศใช้ข้อตกลงคุณธรรมเช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ โดยให้ประชาชนเข้ามาเป็นตัวกลาง ร่วมรู้เห็นเพื่อสร้างความโปร่งใส และเป็นธรรมอันนี้ก็จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้เป็นอย่างมาก”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image