‘ฝรั่งเศส’ ออกระเบียบคุมการผลิตวัสดุสัมผัสอาหารที่ทำจากยาง

‘กรมการค้าต่างประเทศ’ เผย ‘ฝรั่งเศส’ ออกระเบียบเกี่ยวกับวัสดุและสิ่งของสัมผัสอาหารที่ทำจากยาง สำหรับทารก-เด็กเล็ก แนะผู้ประกอบการศึกษาข้อกำหนดและรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของประเทศฝรั่งเศส ได้เผยแพร่ระเบียบว่าด้วยวัสดุและสิ่งของสัมผัสอาหารที่ทำจากยางสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งระเบียบฉบับดังกล่าวจะใช้แทนระเบียบฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 โดยจะครอบคลุมยางธรรมชาติและยางเทอร์โมพลาสติกวัลคาไนซ์ แต่ไม่รวมถึงซิลิโคนอีลาสโตเมอร์ (Silicone Elastomer) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สัมผัสอาหารที่ทำจากยางและจุกนมปลอมที่วางจำหน่ายในตลาดเป็นครั้งแรกก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบตามรายการที่กำหนดใน Annex VIII จะไม่อนุญาตให้ใช้หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยสามารถวางจำหน่ายได้จนกว่าสินค้าจะหมด แต่อย่างไรก็ดี หากวัสดุยางสังเคราะห์ที่มีสารเป็นส่วนประกอบตามที่กำหนดใน Annex VIII ได้มีการยื่นเอกสารการประเมินก่อนวันที่อนุญาตให้ใช้ จะสามารถใช้สารดังกล่าวได้จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2568

ซึ่งระเบียบฉบับดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1.ยางธรรมชาติจะต้องมีคุณลักษณะ 4 ข้อ ประกอบด้วย (1) สีน้อยและไม่รมควัน (2) ไม่มีสาร p-nitrophenol, boric acid หรือ pentachlorophenol และเกลือโซเดียม (3) ต้องไม่ตรวจพบ Hydroxylamine ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และ (4) จะต้องระบุหากผลิตภัณฑ์มีน้ำยางธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ 2.สีย้อมและสารเติมแต่งอื่นๆ ที่ระบุในระเบียบสามารถเพิ่มเข้าไปในระหว่างการผลิตวัสดุยางและสิ่งของอื่นๆ

3.ข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ประกอบด้วย (1)  ค่าการแพร่กระจายของสารรวม (Overall migration) < 10 mg/dm2 ของพื้นผิวสัมผัสทั้งหมด สำหรับที่ปิดผนึกสิ่งของ และภาชนะใส่ของที่ปิดด้วยแคปซูลจุกปิด และสิ่งปิดผนึกอื่นๆ เป็นต้น (2) ค่าการแพร่กระจายจำเพาะ (Specific migration limit) สำหรับสาร N-nitrosamines : ≤ 1 μg/dm2 และสาร N-nitrosatable substances : ≤ 10 μg/dm2 (ซึ่งจะไม่ใช้กับจุกขวดและจุกนมปลอมที่ทำจาก elastomer หรือยางธรรมชาติ) (3) กำหนดค่า Specific migration limit ของโลหะหนัก ได้แก่ แบเรียม : ≤ 1.2 mg/kg ทองแดง : ≤ 4 mg/kg อะลูมิเนียม : ≤ 1 mg/kg และสังกะสี : ≤ 5 mg/kg โดยปริมาณตกค้างของสารปนเปื้อน (ตะกั่ว แคดเมียม พลวง สารปรอท และสารหนู) ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจะต้อง ≤ 1 mg/kg เป็นต้น

นอกจากนี้ จะต้องจัดเตรียมเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนด และใบรับรอง (Declaration of Conformity) ตามภาคผนวก V หากมีการร้องขอจากเจ้าหน้าที่

Advertisement

จากข้อมูลสถิติการส่งออก ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยางไปยังฝรั่งเศส ในช่วงปี 2560 – 2562 มูลค่า 3,030.2 3,102.4 และ 2,914 ล้านบาทตามลำดับ โดยล่าสุดในปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 1,066.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40.12 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระเบียบวัสดุสัมผัสอาหารที่ทำจากยางดังกล่าว ได้ที่เว็บไซต์ https://www.intertek.com/consumer/insight-bulletins/ replacement-of-rubber-food-contact-regulation-approved-in-france/ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารสินค้าข้อตกลงและมาตรการการค้า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image