รฟม.แจงปรับเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นไปตามกฎหมาย ยันไม่ล็อกสเปก

รฟม.แจงการปรับปรุงเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นไปตามกฎหมาย ยันไม่ล็อกสเปก

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงเรื่องการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า รฟม.ยืนยันว่าการปรับปรุงวิธีประเมินข้อเสนอโครงการดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปรับจากรูปแบบเดิม ที่พิจารณาซองเทคนิคและซองการลงทุนและผลตอบแทนแยกจากกัน โดยให้พิจารณาเฉพาะผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ผ่านการประเมินซองเทคนิคเท่านั้น เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า โดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ รฟม. ได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบแล้วว่า การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการส่วนตะวันตก ซึ่งจะต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างที่มีความซับซ้อนเนื่องจากเป็นการดำเนินงานก่อสร้างใต้ดินทั้งหมด ประกอบกับแนวเส้นทางที่พาดผ่านเข้าในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่อ่อนไหวหลายแห่ง โดยเฉพาะกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ต้องก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา

นายภคพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณาครั้งนี้ รฟม.ดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชน (อาร์เอฟพี) ที่ระบุว่าก่อนถึงกำหนดวันยื่นข้อเสนอ รฟม.อาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน โดยการออกเอกสารแนวท้ายเพิ่มเติม โดยเหตุผลสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจมาจากการพิจารณาของ รฟม.เอง หรือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชี้แจงซักถามของผู้ยื่นข้อเสนอก็ได้

นอกจากนี้ รฟม.ยังดำเนินการตามระเบียบคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ที่กำหนดไว้ว่ามีการสงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ยกเลิก ประกาศเชิญชวน หรือเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน โดยผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใดๆ ได้ อีกทั้งในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 ยังได้ระบุไว้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความซับซ้อน มีเทคโนโลยีสูง หรือมีเทคนิคเฉพาะ จำเป็นต้องคัดเลือกพัสดุที่มีคุณภาพดีตามความต้องการใช้งานของหน่วยงานรัฐนั้น รัฐสามารถให้เกณฑ์ราคาประกอบเกณฑ์อื่นตามความในมาตรา 65 วรรคหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่คณภาพและคุณสมบัติที่ถูกต้อง ครบถ้วน ซึ่งได้คะแนนรวมสูงสุด

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงเอกสารอาร์เอฟพี ครั้งนี้ยังเป็นการปรับปรุงเฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอเท่านั้น ไม่ได้เป็นการปรับปรุงเนื้อหาข้อเสนออื่นใดในเอกสารอาร์เอฟพี ดังนั้นการดำเนินการดังกล่าวจึงมิได้ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายใด นอกจากนี้ รฟม. ได้ขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอของเอกชนออกไปอีก 45 วัน นับเป็นระยะเวลาในการจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนของเอกชนประมาณ 70 วัน เพื่อให้ผู้ซื้อเอกสารอาร์เอฟพี ทุกรายได้มีเวลาเพิ่มเติมในการศึกษาเอกสาร อาร์เอฟพี ซึ่งรวมถึงวิธีการประเมินข้อเสนอที่ได้ปรับปรุงในครั้งนี้ด้วย

นายภคพงศ์ กล่าวว่า สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การพิจารณารครั้งนี้ รฟม.ยืนยันว่าเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นหลังจากรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ซึ่งในขณะนั้นคณะกรรมการ ม.36 มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ถึงการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ พร้อมสั่งการให้ รฟม.ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม แต่เนื่องด้วยกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการที่จำกัด ทำให้ รฟม.ต้องออกประกาศขายซองข้อเสนอไปก่อน อีกทั้งมองว่าหากจะมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ก็เป็นไปตามสิทธิ์ของคณะกรรมการ ม.36 และมีการขยายเวลายื่นข้อเสนออีก 45 วัน ซึ่งจะทำให้เอกชนมีเวลาในการปรับปรุงข้อเสนอเท่าเทียมกัน

นายภคพงศ์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวตนมองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องยกเลิกประมูลโครงการ และการที่เอกชนบอกว่าเสียหาย บอกว่าคณะกรรมการจะพิจารณากว้างขวาง คงไม่ใช่ เพราะมันยังไม่ได้เกิดขึ้น ทั้งนี้ รฟม.จะมีการกำหนดเกณฑ์ย่อยด้านเทคนิคหลังจากรับซองข้อเสนอแล้ว แต่ยังไม่ได้ตั้งหลักเกณฑ์ว่าเป็นแบบไหนเพื่อไม่ให้ผู้ร่วมประมูลรู้หลักเกณฑ์ก่อน แต่ที่ต้องเปิดให้มีการซื้อซองประมูลก่อนเนื่องจากมีเวลาจำกัด ยืนยันว่าไม่มีการล็อกสเปก โดยในครั้งนี้จะแบ่งเกณฑ์การตัดสินเป็น ด้านเทคนิค 30% โดยใน 70% แบ่งเป็น 60% ด้านราคา ส่วนอีก 10% เป็นความน่าเชื่อถือของสมมติฐานการเงิน ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่ได้มีการปรับปรุงเป็นครั้งแรก โดยในปี 2540-2541 เคยใช้เกณฑ์นี้ อาทิ การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เป็นต้น

Advertisement

“เราแปลกใจว่าบีทีเอสกังวลอะไร ถ้าคิดว่ามีข้อเสนอที่มีคุณภาพ เพราะเราต้องการเพียงข้อเสนอที่มีคุณภาพ มีเทคนิคการก่อสร้างที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย เราคงไม่อยากให้เกิดเหมือนในข่าวที่ผ่านมา กรณีที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู ถล่มลงมาและการก่อสร้างรถไฟที่ปากช่องก็ถล่ม” นายภคพงศ์ กล่าว

นายภคพงศ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีที่มีการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนการร่วมทุนฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน นั้น เบื้องต้นศาลได้เรียกรฟม.มาไตร่สวน เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา แต่รฟม.ขอเลื่อนออกไปก่อนเนื่องจากเอกสารไม่พร้อม

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอศาลเรียกไตร่สวน โดยจะนำข้อมูลที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นนี้ชี้แจ้งกับศาล หากศาลสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ตามกระบวนการจะต้องหยุดการดำเนินโครงการทันที แต่ปัจจุบันศาลยังไม่นัดไตร่สวนทุกอย่างจึงยังคงเป็นไปตามไทม์ไลน์เดิม คือ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน รับซองข้อเสนอ ส่วนในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 เปิดซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ส่วนอีก 2 ซองยังไม่ได้กำหนดวันเปิด และคาดว่าขบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้น พร้อมทั้งได้ผู้ชนะไม่เกินเดือนมกราคม 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image