‘สศช.’ ประเมินโครงสร้างหนี้สาธารณะไทยยังไม่น่าห่วง ย้ำบริหารจัดการได้

‘สศช.’ ประเมินโครงสร้างหนี้สาธารณะไทยยังไม่น่าห่วง ย้ำบริหารจัดการได้

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ปิดเพดานหนี้ฐานราก ปรับโครงสร้างหนี้ประเทศ” ในงานสัมมนา ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤต “หนี้” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องหนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวของทุกคน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงประเทศไทยเองก็ต้องเดินหน้าผ่านการจัดหาเงินทุน หรือ (financing) เช่นกัน โดยจะแบ่งเป็นการพูดถึงหนี้ 3 ด้าน ได้แก่ 1.หนี้สาธารณะคงค้างของประเทศไทย ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุด พบว่า หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 47% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 41% ทำให้หลายคนมองว่า หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมาเยอะมาก แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศที่ไม่ปกติ ซึ่งมองว่าแม้จะเป็นอัตราที่พุ่งขึ้นมามาก แต่ยังอยู่ในกรอบที่สามารถบริหารจัดการได้ ตามกรอบอยู่ที่ 60% ของจีดีพี แม้ว่าจะกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่สุดท้ายหนี้สาธารณะก็ยังอยู่ที่ 57%

“หากเทียบกับต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก109% มาเป็น 131% ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นจาก 237% มาเป็น 252% หรือ สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นจาก 85% มาเป็น 91% จึงถือว่าหนี้สาธารณะไทยยังไม่ได้พุ่งสูงเกินไป ของไทยอยู่ในระดับที่การพุ่งขึ้นไม่สูงมากนัก แต่ประเทศไทยจะต้องพยายามที่ทำงบประมาณเข้าสู่สมดุลให้ได้ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า เนื่องจากไม่สามารถจะจัดงบประมาณแบบขาดดุเหมือนในปัจจุบัน หรือในช่วงที่ผ่านมาได้” นายดนุชา กล่าว

หนี้สาธารณะของประเทศแบ่งมาจาก 3 ส่วน โดยส่วนแรก เป็นหนี้ที่กู้มาเพื่อขาดดุลงบประมาณ เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ไทยจัดงบประมาณแบบขาดดุลมาโดยตลอด ซึ่งรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ส่วนที่เกินต้องกู้เข้ามาสมทบ ทำให้ในช่วง 10 ปี ประเทศไทยจัดงบประมาณขาดดุลตั้งแต่ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านบาท และขณะนี้ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 5-6 แสนล้าน เป็นการขยายตัวขึ้น ตามขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น

ส่วนที่สอง เป็นหนี้ที่กู้มาลงทุนในโครงการต่างๆ อาทิ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ขนส่งมวลชน ระบบประปา ระบบน้ำ ซึ่งโครงการเหล่านี้แต่ละปีจะใช้เงินอยู่ที่ 3-5 แสนล้านต่อปี ขึ้นอยู่กับโครงการที่อนุมัติ โดยมีมุมมองกับการเป็นหนี้ในลักษณะนี้คือ ไม่ได้มีความกังวลมากนัก เพราะเป็นเงินที่ใช้ลงในโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปในอนาคตได้ ประกอบกับเมื่อผ่านเวลาไปสักพัก เม็ดเงินที่ลงทุนไป จะหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เพราะต้องการให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกเร็วขึ้น อาทิ รถไฟฟ้าบางสาย ซึ่งโครงการเหล่านี้ทำได้ในบางช่วงเวลา ไม่สามารถทำจำนวนมาก หรือทำได้ตลอดเวลา เพราะจะไปเบียดเบียนฐานะทางการคลังของไทย

ส่วนที่สามคือ หนี้ที่เกิดจากการทำนโยบายแบบกึ่งการคลัง โดยรัฐต้องการทำนโยบาย เพื่อช่วยเหลือประชาชน ต้องให้กลไกธนาคารของรัฐให้ความช่วยเหลือไปก่อน แล้วตั้งงบประมาณให้ภายหลัง หรือการทำโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ในลักษณะการชำระเงินระยะยาว ซึ่งต้องชำระเงินในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

ADVERTISMENT

“สิ่งที่จะเกิดจากการปรับโครงสร้าง หากต้องการลดการขาดดุลของประเทศ ส่วนหนึ่งที่ต้องเริ่มทำวันนี้คือ การปรับโครงสร้างระบบราชการ ที่มีขนาดใหญ่มาก ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นงบประจำกว่า 80% ขึ้นไป ทั้งที่วันนี้มีเทคโนโลยี และมีเครื่องมือในรูปแบบดิจิทัลเข้ามาดำเนินการได้ ทำให้ในอนาคตจะต้องปรับโครงสร้างภาครัฐให้มีขนาดเล็กลง เพื่อให้มีช่องว่างสำหรับการทำงบประมาณที่จะใช้ในการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะลดเรื่องการขาดดุลงบประมาณลงได้ ขณะเดียวกันก็จะจัดเก็บรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย” นายดนุชากล่าว

ในช่วงระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ภาครัฐต้องเป็นกลไกที่จะดำเนินการลงทุนในโครงการต่างๆ ไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ ไทยได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามการค้า รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ขับเคลื่อนได้ลำบาก จึงเหลือแต่การลงทุนของภาครัฐเครื่องมือเดียวเท่านั้น การดำเนินการในระยะถัดไป จึงต้องปรับโครงสร้างภาครัฐ เพื่อปรับลดงบดำเนินการ และโครงสร้างหนี้ของประเทศไปในตัว โดยการจัดการหนี้สาธารณะของประเทศไทย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพ จึงไม่ได้มีความน่าเป็นกังวลมากนัก เพราะยังบริหารจัดการได้ และจะกู้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

สำหรับหนี้ภาคธุรกิจ พบว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สินเชื่อธุรกิจขาดใหญ่พุ่งขึ้นมาสูงมาก โดยขยายตัวเพิ่มเป็น 36.5% เทียบกับช่วงปี 2562 ซึ่งสาเหตุมาจากการผ่อนคลายดอกเบี้ยของมาตรการต่างๆ โดยหากดูเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) พบว่า การขยายตัวลดลงค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงแหล่งเงินลงทุน และศักยภาพของเอสเอ็มอีเอง ที่ยังมีปัญหาต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่บ้าง จึงต้องมีการปรับแก้เงื่อนไขร่วมกันต่อไป

ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ภาครัฐได้ออกมาตรการไปค่อนข้างมาก อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อผู้มีรายได้ประจำ สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว วงเงิน 2.5 แสนล้าน นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งขณะนี้ใช้ไปเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งจะต้องมาพิจารณากันต่อว่า ควรปรับเงื่อนไขการเงินการคลังอย่างไร

“ขณะนี้สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหารือร่วมกันในการปรับปรุงเงื่อนไขให้เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐเพิ่มขึ้น ต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาในการผ่อนชำต่างๆ เนื่องจากในช่วงที่มีนโยบายออกมา สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงมากนัก มาตรการช่วยเหลือจึงออกมาในรูปแบบระยะสั้นๆ จึงต้องมาปรับเงื่อนไขกันอีกครั้ง” นายดนุชา กล่าว

ในส่วนของหนี้ครัวเรือน ขณะนี้อยู่ในสัดส่วน 80% ของจีดีพี โดยแบ่งเป็นโครงสร้างหนี้ระยะยาว ประเภทที่อยู่อาศัย ประมาณ 33-34% และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอยู่ที่ 27% ซึ่งส่วนนี้จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ ซึ่งรัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหามาตรการช่วยเหลือหนี้ส่วนบุคคล ให้อยู่รอดต่อไปได้และลดระดับหนี้ลงมาพร้อมกัน โดยหนี้ครัวเรือน มีอัตราการขยายตัวลดลงตั้งแต่กลางปี 2562 เนื่องจากมีความเข้มข้นขึ้นในการคัดกรอง และมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นหนี้ครัวเรือนขยายตัวลดลงมาเรื่อยๆ แต่น่าสนใจว่า หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น โดยเริ่มเห็นผู้ที่จบปริญญาตรี อายุ 22-40 ปี ก็เป็นหนี้แล้ว จึงต้องช่วยกันดูว่า จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้สร้างหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้นได้ เพื่อให้มีสภาพคล่องเหลืออยู่ในการดำรงชีวิต หรือไปลงทุนที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนผลกระทบจากหนี้ต่างๆ ไล่ตั้งแต่หนี้ภาครัฐ เมื่อปัญหาหนี้ของประเทศสูงขึ้น อัตราขยายตัวลดลงในภาพร่วม ซึ่งแม้มีเศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆ แต่หากหนี้เกินความสามารถของประเทศจะจัดการได้ ก็จะส่งผลกระทบกับอัตราการเจริญเติบโตของประเทศชะลอตัวหรือลดลง แต่โชคดีของประเทศไทยที่ยังสามารถจัดการได้ ในขณะนี้เหลือเพียงให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และทำให้คนสามารถหารายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้

“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่ต้องช่วยนำพาประเทศที่พ้นวิกฤตไปได้ สิ่งหนึ่งที่ช่วยในการทำให้เรื่องหนี้ของเราไม่ขยายตัวมากขึ้นในอนาคต คงต้องใช้หลักที่เคยได้ยิน และสามารถประยุกต์ใช้ในระบบบุคคลและองค์กรคือ หลักเศรษฐกิจพอเพียง พอประมาณ ไม่มีความต้องการที่เกินตัวเกินไปมีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้จ่ายภาระหนี้ต่างๆ จะดีขึ้น รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย เพราะภาครัฐคงไม่สามารถนำพาทุกภาคส่วนให้พ้นวิกฤตได้ จึงต้องช่วยกันนำพาประเทศพ้นวิกฤตให้ได้” นายดนุชากล่าว