“ปลัดคลัง” โต้5ข้อ”กานดา นาคน้อย”หลังเขียนบทความ”เสือโดนดาวน์เกรดเป็นเห็บ”

กรณีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปาฐกถาหัวข้อเศรษฐกิจโลกขยับก้าว…เศรษฐกิจไทยขยับไกล โดยเปิดโมเดลใหม่กู้เศรษฐกิจไทย เห็บสยาม เกาะเศรษฐกิจประเทศใหญ่แล้วดูดเลือดจนอ้วน ไม่เป็นศัตรูกับใคร ก่อนถูกกานดา นาคน้อย นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ชาวไทย จากมหาวิทยาลัยคอนเน็คทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนบทความเรื่อง “เสือโดนดาวน์เกรดเป็นเห็บ“ตอบโต้

ล่าสุด มีตำชี้แจงจากปลัดกระทรวงการคลัง ถึงกรณีบทความดังกล่าว

1)“ตัวเลขการว่างงานต่ำ”

กานดา นาคน้อย

จริงแล้วสถิติอัตราว่างงานของไทยเป็นสถิติที่ไม่มีประโยชน์ต่อการศึกษาตลาดแรงงาน สมมุติว่าชายคนหนึ่งเป็นพนักงานบริษัทที่โดนไล่ออกจากงานแล้วหันไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา สถิติไทยก็นับว่าชายคนนี้ไม่ตกงาน ประเด็นนี้สำคัญเพราะแรงงานในภาคเกษตรมากถึง 40% ของแรงงานทั้งหมด ฤดูที่ยังไม่เก็บเกี่ยวไม่มีรายได้แล้วไปรับจ้างตัดหญ้า 1 ชั่วโมงหรือไปซื้อผลไม้ที่ตลาดมาจัดใส่ถุงเร่ขายก็นับว่าไม่ตกงาน ปีที่แล้วสำนักงานข่าวบลูมเบิร์กก็เผยแพร่บทความที่เล่าความน่าขำขันของสถิติอัตราการว่างงานของไทย

Advertisement

สมชัย สัจจพงษ์

ข้อมูลอัตราการว่างงาน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นไปตามหลักสากลของ International Labor Organization (ILO) ซึ่งเป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับนานาประเทศ ทั้งนี้ ข้อมูลอัตราว่างงาน ถือเป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญเช่นเดียวกับข้อมูล ต่าง ๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อ โดยที่ประเทศไทยถือได้ว่ามีตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น (Flexible) ทำให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายไปยังภาคการผลิตต่าง ๆ ได้อย่างเสรี ซึ่งประเด็นนี้ควรมองว่าเป็นจุดแข็งประการหนึ่งของเศรษฐกิจไทย ยืนยันโดยองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สถาบันจัดอันดับเครดิต และนักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ

2)“กำไรของบริษัทจดทะเบียน

 

Advertisement

กานดา นาคน้อย

กำไรดังกล่าวไม่นับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ภาครัฐไม่สนใจผลกำไรของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์หรือ? แม้บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์มีขนาดเล็กกว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ก็อาจมีศักยภาพในการสร้างสินค้าใหม่ที่สร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจได้ ผลกำไรของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ดูได้ไม่ยากจากข้อมูลการเสียภาษี ถ้าภาคเอกชนกำไรดีรัฐบาลก็ควรเก็บรายได้ภาษีได้ตามเป้า แต่มีรายงานข่าวว่ารายได้ภาษีเดือนพฤษภาคมต่ำกว่าเป้าถึง 20%

สมชัย สัจจพงษ์

1) ที่อ้างอิงตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าคนไทยและภาคเอกชนไทยยังมีเงิน แต่ไม่กล้าใช้จ่าย โดยเปรียบเทียบตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เทียบกับรายจ่ายลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยตัวเลขทั้ง 2 เป็นตัวเลขที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเผยแพร่

2) รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของขนาดเศรษฐกิจรวม และมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือ SME มาโดยตลอด อาทิ

 Soft loan 150,000 ล้านบาท สำหรับ SMEs
 ลดภาษี SMEs เหลือ 10% ในปี 58 และ 59
 ลดภาษี SME innovation 0% 5 ปี
 การค้ำประกันสินเชื่อต่างๆ
 มาตรการพี่ช่วยน้อง (บริษัทใหญ่ช่วยบริษัทเล็ก)

นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการ Startup Center โดยปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อเสริมศักยภาพวิสาหกิจเริ่มต้น

3) ในส่วนของการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล พบว่า ผลการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วง 9 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2559 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นถึง 25,021 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงผลประกอบการของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น

3)“ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงกว่า 1.7 ล้านดอลลาร์”

กานดา นาคน้อย

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในบัญชีแบงค์ชาติ มีระดับสูงเพราะส่วนต่างดอกเบี้ยและการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ทำให้เงินทุนไหลเข้าในระยะสั้นจึงเกิดความต้องการซื้อเงินบาท มีผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เงินทุนเหล่านี้ไม่ช่วยสร้างงานนอกภาคการเงิน ดอกเบี้ยปรับลดลงเมื่อไรทุนระยะสั้นก็จะไหลออก ทุนต่างชาติที่สำคัญต่อการผลิตและสร้างงานนอกภาคการเงินเรียกว่า“การลงทุนตรง” (Direct investment) ซึ่งปลัดคลังไม่อ้างอิง ที่จริงแล้วการลงทุนตรงจากต่างชาติในครึ่งปีนี้ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี และการลงทุนตรงโดยทุนไทยในต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น กล่าวได้ว่า “ทุนตรงไทยไหลออก และทุนตรงนอกทรุดตัว”

ทุนญี่ปุ่นที่มาลงทุนตรงในไทยจ้างคน ญี่ปุ่นให้มาทำงานที่ไทยทั้งในระดับบริหารและวิชาชีพแล้วทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศจ้างงานคนไทยกลุ่มไหน? ถ้าลงทุนในภาคที่เน้นใช้แรงงานท้องถิ่นราคาถูกก็ไม่จำเป็นต้องจ้างแรงงานมีทักษะจากไทยมาก ถ้าลงทุนในภาคเทคโนโลยีจะจ้างวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์คนไทยไหม?

สมชัย สัจจพงษ์

1) ทุนสำรองระหว่างประเทศ ตลอดจนดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นเครื่องชี้ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกที่มีความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยเคยต้องประสบภาวะวิกฤติมาแล้วเมื่อปี 2540 จากปัญหาด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอก โดยทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 นั้นลดลงจนต่ำกว่าระดับ 1.0 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงเดียวกันก็ขาดดุลติดต่อกันกว่า 10 ปี ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติดังเช่นวิกฤติปี 2540 อีก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีหน้าที่ดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยใช้เกณฑ์ตามที่ IMF แนะนำ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศควรไม่ต่ำกว่า 1.0 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ควรขาดดุลเกินร้อยละ -2 ของ GDP

2) ประเด็นตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment: FDI) นั้น อ้างอิงจากที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า “ตัวเลข FDI inflows ในช่วงครึ่งแรกปี 2559 ที่ลดลงมากจากปีก่อนหน้านั้น เนื่องจากปัจจัยพิเศษ กล่าวคือ นักลงทุนไทยซื้อกิจการธุรกิจค้าปลีกในประเทศจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงไตรมาส 1/2559 ที่ผ่านมา (ซื้อบิ๊กซีจากกลุ่มบริษัทคาสิโนกรุ๊ป จากฝรั่งเศส) มูลค่ากว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวมีมูลค่าสูงและลงบัญชีเป็น FDI ไหลออก จึงทำให้ตัวเลข FDI จากธุรกรรมดังกล่าวติดลบ เนื่องจากเท่ากับว่ากลุ่มบริษัทคาสิโนกรุ๊ปถอนทุนจากไทย อีกทั้งจากปัจจัยฐานสูงในปี 2558 เนื่องจากในช่วงต้นปี 2558 มี FDI รายการใหญ่เข้ามาเพิ่มทุนในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นปัจจัยบวกพิเศษ…”

จึงอาจกล่าวได้ว่า ตัวเลข FDI ที่ลดลงในกรณีนี้ มิได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะเป็นการซื้อกิจการไทยคืน โดยคนไทย ซึ่งมีการจ้างงานแรงงานไทย

4)“ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล”

กานดา นาคน้อย

ดุลบัญชีเดินสะพัดวัดความแตกต่าง ระหว่างเงินออมและการลงทุนในประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพราะเงินออมสูงขึ้นและการลงทุนหดตัวซึ่งสอดคล้องกับการหดตัวของภาคส่งออก ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวการส่งออกจะไม่หดตัว ถ้าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลควบคู่ไปกับการขยายตัวของภาคส่งออกถึงสมควรยินดีปรีดา แต่สัปดาห์นี้มีรายงานข่าวว่าการส่งออกของไทยหดตัวติดต่อกันมา 6 ไตรมาสแล้ว

ที่จริงแล้วงานวิจัยพบว่าเมื่อเศรษฐกิจ ขยายตัวดุลบัญชีเงินสะพัดจะลดลงและอาจติดลบ เพราะการนำเข้าขยายตัวพร้อมๆกับการส่งออก มีทั้งการนำเข้าสินค้าทุน (เช่น เครื่องจักร)และวัตถุดิบเพื่อลงทุน และการนำเข้าสินค้าและบริการเพื่อบริโภค ยิ่งขยายตัวนาน ๆ ดุลบัญชีเดินสะพัดยิ่งลดลง ถ้าลดลงจนดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบนิดหน่อยก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่ถ้าติดลบเกิน 5% ของผลผลิตประชาชาติติดต่อกันหลายไตรมาสก็อาจเป็นสัญญาณว่าการลงทุนมากเพราะสถาบันการเงินปล่อยกู้ง่ายเกินไปและอาจทำให้มีวิกฤตการเงินในอนาคต

สมชัย สัจจพงษ์

1) ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เป็นผลจากการนำเข้าที่หดตัว เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลงมาก โดยสินค้าในกลุ่มสินแร่และเชื้อเพลิงเป็นสินค้านำเข้าหลักของไทย ราคาน้ำมันที่ลดลง ย่อมทำให้มูลค่าการนำเข้าลดลง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูง

2) การออมและการลงทุนของไทยมีส่วนต่าง (Saving-investment gap) โดยการออมมีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นในปี 2548 และปี 2555-2556 ซึ่งรัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจในปัญหานี้ กระทรวงการคลังจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนการลงทุนหลายมาตรการ เพื่อให้ปี 2559 นี้ เป็นปีทองแห่งการลงทุน

5) “สถาบันจัดอันดับระดับโลก คือ ฟิชท์

กานดา นาคน้อย

เรตติ้ง และสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” สถาบันเหล่านี้จัดอันดับการลงทุนใน ตราสารหนี้ เป็นอันดับความน่าเชื่อถือของ “ผู้กู้เงิน” กล่าวคือ สถาบันการเงินต่างๆ ที่ กู้เงิน บริษัทต่างๆ ที่กู้เงิน และรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่กู้เงิน ไม่ใช่การจัดอันดับความน่าลงทุนแบบ“ลงทุนตรง” อย่าสับสนระหว่างความน่าลงทุนด้วยการปล่อยกู้ด้วยการซื้อตราสารหนี้ไทย และความน่าลงทุนด้วยการร่วมทุนผลิตสินค้าและบริการในประเทศไทย ความน่าลงทุน 2 แบบนี้แตกต่างกัน แบบหลังมีความเสี่ยงสูงกว่าแบบแรกมาก

อันดับเรตติ้งพันธบัตรรัฐบาลไทยอยู่ในขั้นดีเพราะรัฐบาลยังมีความสามารถในการใช้หนี้สูง เนื่องจากหนี้สาธารณะยังไม่สูงมากและกระทรวงการคลังมีทรัพย์สินที่นำมาขายใช้หนี้ได้ถ้าเก็บภาษีไม่พอใช้หนี้ เช่น หุ้นการบินไทย หุ้นธนาคารทหารไทย หุ้นปตท. ฯลฯ

ส่วนอันดับเรตติ้งสถาบันการเงินไทยและบริษัทไทยหลายแห่งอยู่ในขั้นดีด้วยเหตุผลคล้ายกัน คือมีความสามารถในการใช้หนี้สูง เนื่องจากมีทรัพย์สินมาก (เช่น ปริมาณเงินฝากในสถาบันการเงิน กรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ)

ไทยน่าลงทุนระยะยาวเพื่อ“การผลิต”แค่ไหนก็วัดกันได้จากตัวเลขการ“ลงทุนตรง”อย่างที่เสนอไปแล้วข้างต้น เพราะการลงทุนตรงไม่ใช่การลงทุนระยะสั้นที่ถอนทุนกันรวดเร็วแบบการลงทุนในตลาดตราสารหนี้หรือตลาดหลักทรัพย์

ภาวะ“ทุนตรงไทยไหลออก และทุนตรงจากนอกทรุดตัว” ก็บ่งบอกแล้วว่าภาคการผลิตในไทยไม่น่าลงทุนในสายตาบริษัทข้ามชาติทั้งไทยและเทศ ก็ย่อมมีผลเชิงลบต่อตลาดแรงงาน

สมชัย สัจจพงษ์

ไม่ได้บอกว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นผู้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของการลงทุนทางตรง (Direct investment) เพียงแต่อ้างอิงว่าสถาบันจัดอันดับฯ ดังกล่าวไปสำรวจพบว่านักลงทุนไทยยังรอสถานการณ์การเมืองให้นิ่งก่อนจึงลงทุน ซึ่งถูกต้องตามหลักการประเมินความเสี่ยงในการลงทุนครอบคลุมการลงทุนในตราสาร (Portfolio investment) โดยนำเอาปัจจัยทางการเมืองเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าสถาบันจัดอันดับฯ ดังกล่าวเป็น ผู้จัดอันดับตราสารทางการเงิน เนื่องจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ภายใต้กระทรวงการคลังเป็นผู้ว่าจ้างให้ทำการจัดอันดับตราสารหนี้ของรัฐเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในการประเมินโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้แก่ ฟิชท์ เรตติ้ง และมูดิ้สฯ จะมีการประเมินในทุกมิติของเศรษฐกิจประกอบกัน เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ภาคการคลังและภาคการเงิน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับทั้งระบบ เป็นต้น ดังนั้น การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งได้รับการจัดอันดับในชั้นดี ย่อมแสดงให้เห็นว่าทุก ๆ มิติของประเทศต้องอยู่ในชั้นดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image