เงินเฟ้อ ก.ย. ลบ 0.70% พณ.ลั่นทิศทางสูงขึ้น ชี้ประชาชน 40% กังวลหนี้-ชะลอใช้จ่าย

เงินเฟ้อก.ย.ลบ 0.70% พณ.ลั่นทิศทางสูงขึ้น ชี้ประชาชน 40% กังวลหนี้-ชะลอใช้จ่าย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2563 ลดลง 0.70% เทียบเดือนกันยายน 2562 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน(หักหมวดอาหารสดและพลังงาน)สูงขึ้น 0.25% เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากราคาสินค้าและบริการ ที่มีราคาสูงขึ้น 224 รายการ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่สินค้าราคาสูงขึ้น 128 รายการ ขณะที่สินค้าไม่เปลี่ยนแปลงราคา 68 รายการ ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงราคา 183 รายการ และอีก 130 รายการราคาลดลง สูงกว่าเดือนก่อนหน้าสินค้าราคาลดลง 111 รายการ สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นในเดือนกันยายน อาทิ เนื้อสุกร ทุเรียน ต้นหอม กล้วยน้ำว้า ข้าวราดแกง(อาหารกลางวัน) เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ราคาลดลง ในกลุ่มเชื้อเพลิงพลังงาน ก๊าซหุงต้ม ข้าวสารเหนียว เป็นต้น จึงทำให้เงินเฟ้อทั่วไปรวม 9 เดือน ลบ 0.99% และเงินเฟ้อพื้นฐาน บวก 0.32%

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า เงินเฟ้อในเดือนกันยายนเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ของปีนี้ แต่เป็นอัตราติดลบที่ลดลง และแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส4/2563 จะติดลบลดลงเหลือ 0.34% ปัจจัยที่มีผลต่อปลายปีนี้ คือ ทิศทางราคาสินค้าเกษตรและอาหารสดสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลกินเจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวของภาครัฐ การเพิ่มวันหยุดยาวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และราคาน้ำมันยังไม่สูงขึ้น ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2563 ในกรอบลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% และค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1% บนสมมติฐานจีดีพีลบ 8.6% ถึงลบ 7.6% ราคาน้ำมันดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5%

“ แม้เงินเฟ้อยังติดลบ แต่ติดลบในอัตราน้อยลง ยืนยันว่าไทยไม่เผชิญภาวะเงินฝืด ทางกลับกันสะท้อนว่ามุมมองต่อปัจจัยต่างๆดีขึ้น ดูจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือนกันยายน ค่าดัชนีปรับเพิ่มอยู่ที่ 45.1 สูงสุดในรอบปี ซึ่งเป็นการเพิ่มจากความเชื่อมั่นต่อปัจจุบันและอนาคตดีขึ้น สะท้อนว่าประชาชนเริ่มมั่นใจต่อมาตรการที่รัฐออกมา เห็นว่าการเมืองไม่น่าจะรุนแรงและคลี่คลายลง แต่ค่าดัชนีก็ยังต่ำกว่าระดับปกติ 50 ซึ่งในการสำรวจประชาชน 40% ระบุว่าจะยังชลอการใช้จ่าย และกังวลต่อปัญหาหนี้สิน จึงเป็นประเด็นท้าทายของรัฐที่จะออกมาตรการที่จะสร้างให้ประชาชานมั่นใจและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดย 2 มาตราการรัฐผ่านเพิ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 500 บาทต่อเดือน และโครงการคนละครึ่งที่รัฐเติมเงินใช้จ่าย150บาทกับผู้ได้สิทธินั้นไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ แต่ช่วยในด้านกระตุ้นเศรษฐกิจ “ นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image