“เครือซีพี” ร่วมเวทีเครือข่ายเพื่อความยั่งยืน ชูโครงการ”ไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัว ผิงกู่” ต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network : TRBN) จัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ Circular Economy in Action : Game Changer เพื่อรับฟังมุมมองแนวคิดกลยุทธ์การดำเนินงานจากภาคธุรกิจที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีนายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารความยั่งยืน และภาพลักษณ์องค์กร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ น.ส.สุรัชนี ลิ่มอติบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บจก.กิมไป๊ ลามิทิวบ์ ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายนพปฏล กล่าวถึง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ว่า การทำให้สำเร็จได้ต้องมี Push and Pool คือ ผู้ผลิตสินค้าและบริการมีการตระหนักรู้แล้ว แต่ส่วนของผู้บริโภคต้องเห็นถึงความแตกต่างและเข้าใจถึงประโยชน์ของเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน จึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ปัญหาสภาพแวดล้อมอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง และสหประชาชาติรายงานว่าปีนี้เป็นปีแรกที่การบริโภคของมนุษย์มากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสร้างกลับมาได้ทัน หากไม่รีบแก้ไขและร่วมมือกัน มนุษย์เราจะเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกที่ถ้าไม่ปรับตัวก็อาจสูญพันธุ์ได้

“ดังนั้นการขับเคลื่อนสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ โดยการนำ Circular Economy มาใช้ในโมเดลทางธุรกิจขององค์กร ด้วยการใช้นวัตกรรมตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค และวนกลับมาสู่วัตถุดิบอีกครั้ง โดยทั้งหมดจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) และสามารถวัดค่าปริมาณต่างๆในกระบวนการผลิตทั้งหมด ตลอดจนใช้นวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนในการผลิตหรือให้บริการนั้นๆ ได้ด้วย” นายนพปฏลกล่าว

Advertisement

นายนพปฏลกล่าวถึงหนึ่งในกรณีศึกษาตัวอย่างของเครือซีพีที่ทำสำเร็จในเรื่อง Circular Economy คือ โครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวผิงกู่-เครือซีพี ที่ประเทศจีน เป็นต้นแบบความร่วมมือแบบ 3 ประสาน คือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งเครือฯดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาลจีนในแง่รายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร อาหารปลอดภัย และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนในประเทศจีน

นายนพปฏลกล่าวว่า โครงการผิงกู่ได้วางแผนตั้งแต่แรกให้มีรูปแบบธุรกิจ Circular Economy มีการนำของเสียจากโรงเลี้ยงไก่ไข่ไปใช้ต่ออย่างคุ้มค่า ไม่ให้เกิดการเสียเปล่า อาทิ มูลไก่นำไปสร้างพลังงานชีวภาพมาหมุนเวียนภายในโรงงาน ซากไก่นำไปเลี้ยงอาหารจระเข้ที่ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจสร้างรายได้ รวมทั้งชุมชนได้เรียนรู้การบริหารจัดการโรงงานด้วยเอไอ มีระบบตรวจสอบย้อนกลับไข่ไก่ทุกกล่อง เมื่อครบ 15 ปี โรงงานจะเป็นของชุมชน และเครือซีพีทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อ

Advertisement

ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือซีพี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ Circular Economy ขับเคลื่อนได้จะต้องเริ่มที่ตัวเราทุกคน จากนั้นในระดับองค์กรเอกชนผู้นำจะต้องเป็นแบบอย่าง (Tone at the top) นำพาองค์กรปรับตัวด้วยการคิดถึงส่วนรวม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่นที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพีได้ประกาศว่าทุกกลุ่มธุรกิจในเครือทั้ง 22 ประเทศทั่วโลก จะเป็นองค์กร Zero Carbon แม้จะเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย แต่เป็นความพยายามปรับเปลี่ยนองค์กร (Transform) โดยใช้นวัตกรรมมาขับเคลื่อนเรื่อง Circular Economy ตลอดจนผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ทัศนคติของทุกคนในองค์กร สร้างความร่วมมือ และมีตัวชี้วัดระดับโลก

“ถ้าเราจะสร้างโลกใบนี้ให้เป็นของคนรุ่นใหม่จริง องค์กร บริษัทเอกชน ผู้ผลิตต้องเป็นผู้ลงมือให้เห็นเป็นรูปธรรม เริ่มที่ตัวเอง ทุกอย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และขยายไปสู่องค์กรให้เกิดการตระหนักรู้ และทำให้เขารู้สึกว่าพวกเขามีผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ เพราะสุดท้ายเราอยู่ในโลกใบเดียวกันทั้งหมด การเป็น Game Changer แต่ละคน จึงต้องตระหนักว่าเรามีหน้าที่ต้องมาดูแลอนาคตร่วมกัน แม้แต่ผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อเรื่องราคาสินค้าบริการ ก็ต้องตระหนักว่าต้นทุนจากการทำลายธรรมชาตินั้นสูงกว่าต้นทุนจากราคาสินค้า เพราะทุกวันนี้ที่เราจ่ายอยู่แล้วเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีผลต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพและชีวิต”นายนพปฎลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ร่วมสัมมนาจากภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ ได้ร่วมเสนอมุมมองการขับเคลื่อนธุรกิจในรูปแบบ Circular Economy ไปในทิศทางเดียวกัน โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อนรวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรเอกชนด้วยกัน และเห็นตรงกันว่า หนึ่งในความพยายามสำคัญคือ การสร้างการตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคเห็นถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่แฝงอยู่มากกว่าต้นทุนใกล้ตัวอย่างราคาสินค้า

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวชื่นชมแนวทางของเครือซีพี และปตท.ที่ดำเนินการมาตลอดหลายปี เช่นเดียวกับกลุ่มไทยเบฟฯ ที่พยายามสร้างการตระหนักรู้ในเรื่อง Circular Economy ร่วมกับองค์กรธุรกิจอื่นๆในประเทศไทยที่เข้ามาร่วมมือกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มไทยเบฟให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เริ่มตั้งแต่การจัดซื้อ ผลิต กระจายสินค้า การตลาด การขาย การเก็บกัก เพราะเชื่อว่าเป็นหนึ่งในการช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น เช่น โครงการสมุยโมเดลที่เก็บกักบรรจุภัณฑ์ที่ส่งไปสมุยและสามารถเก็บกลับคืนมาได้ทั้งหมด โดยวัดผลกลับมาได้ชัดเจน โครงการนี้ยังส่งเสริมให้ท้องถิ่นทำงานร่วมกับผู้ประกอบการรายย่อยตลอดจนบริษัทใหญ่และร่วมมือไปยังคู่ค้ารายอื่นด้วย


ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารความยั่งยืน และภาพลักษณ์องค์กร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล กล่าวว่า แนวทาง Circular Economy ในประเทศไทยมีความเข้าใจมากขึ้น และนำไปปรับใช้ในทุกภาคส่วนของประเทศ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนเป็นจุดๆ ยังไม่ได้มองการเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กรจะต้องสร้างวัฒนธรรมและความร่วมมือให้เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนใช้นวัตกรรมมาปรับปรุงการผลิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ นำวัสดุทางการเกษตรมาเปลี่ยนเป็นไบโอพลาสติก การสร้างระบบรีไซเคิล อัพไซเคิลครบวงจร เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ทรัพยากรน้อยลง

น.ส.สุรัชนี ลิ่มอติบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บจก.กิมไป๊ ลามิทิวบ์ กล่าวว่า หนึ่งในการขับเคลื่อน Circular Economy ที่สำคัญคือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน และผู้บริโภคต้องมีความรู้ความเข้าใจรูปแบบการรีไซเคิล โดยต้องสร้างให้มีแรงจูงใจ เพื่อให้การรีไซเคิลสมบูรณ์และมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะทำให้เกิด Zero Waste โดยสมบูรณ์
———————–

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image