สสว.ดัน ‘ธุรกิจชุมชน’ บุก ‘ออนไลน์’

สสว.ดัน ‘ธุรกิจชุมชน’ บุก ‘ออนไลน์’

เป็นที่ทราบกันดีว่า วิสาหกิจชุมชนคือหัวใจในการสร้างงาน สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ

ล่าสุด จากแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นทั่วประเทศ ส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาที่ใช้ได้จริง ตรงกับความต้องการของเกษตรกรในชุมชน รวมถึงพัฒนาธุรกิจชุมชน โดยการสนับสนุนทั้งด้านการรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย สร้างกลไกพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน เพิ่มโอกาสในการเติบโตของธุรกิจชุมชนเพื่อสร้างการเติบโตทางรายได้ เพิ่มการเข้าถึงตลาดและทรัพยากร

สสว.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ผลักดันให้เกิดศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center ภายใต้โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Advertisement

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. ให้ข้อมูลระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์แห่งความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งสงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ว่า ปี 2563 โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มดำเนินการเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการ ผ่านความร่วมมือกับศูนย์แห่งความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยภาครัฐ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

มีการคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพจากทั่วประเทศ เข้าสู่การพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในพื้นที่ที่มีสินค้าและบริการเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง และเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญทั้งในด้านการจ้างงานหรือการใช้วัตถุดิบจากชุมชน สินค้าและบริการมีความโดดเด่น และพร้อมจะขยายธุรกิจของตนเองอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างโอกาสหรือก้าวข้ามข้อจำกัดที่มีอยู่ได้ ทำให้ธุรกิจไม่สามารถขยายตัวเท่าที่ควร

ผอ.สสว.กล่าวย้ำว่า โครงการจะเน้นในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาและต่อยอด รวมถึงแก้ไขปัญหาหรือข้อติดขัดให้แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจทุกระดับแบบครบวงจรในทุกมิติ ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น มีโอกาสในการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด แนวทางการดำเนินงานจะแบ่งออกเป็น 3 ด้าน โดยพิจารณาว่าด้านใดเป็นด้านที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับผู้ประกอบการแต่ละราย ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้าหรือบริการ ด้านการเพิ่มมูลค่า เพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดค่าใช้จ่าย และสุดท้ายด้านการนำเครื่องจักร เทคโนโลยี นวัตกรรม หรือองค์ความรู้สมัยใหม่มาใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถหรือเพื่อสร้างมาตรฐาน ซึ่งในแต่ละด้านก็จะเน้นส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการเชิงลึกแบบเข้มข้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม โดยการสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการแบบลงมือปฏิบัติจริง

ในปีงบประมาณ 2564 สสว. มีแผนจะขยายความร่วมมือเพิ่มเติม กับมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่าย ศูนย์แห่งความเป็นเลิศในทุกภูมิภาค โดยมีแนวคิดจะส่งผ่านโครงการหรือกิจกรรมที่มุ่งเน้นการยกระดับ ไปพร้อมกับการปรับตัวธุรกิจภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง สู่ธุรกิจที่สอดรับกับ ชีวิตปกติวิถีใหม่ ทั้งกระบวนการบริหารจัดการหรือดำเนินธุรกิจ การพัฒนาหรือปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ การขนส่ง การทำสื่อการตลาดหรือประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ รวมถึงการทำตลาดทั้งแบบออฟไลน์ และออนไลน์

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นอกจากจะมีบทบาทในการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนผ่านองค์ความรู้ต่างๆ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด การนำพาสินค้าไปโลดแล่นตามแหล่งช้อปปิ้งสำคัญอย่างไอคอนสยาม ศูนย์แห่งนี้ยังเดินหน้าแฟลตฟอร์มสำคัญเพื่อยกระดับสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีไอเดียแปลกใหม่ มุ่งสร้างงานให้คนหลากหลายกลุ่ม

ขณะที่ ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตศิริ รองอธิการฝ่ายบริการวิชาการและกฎหมาย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ศูนย์มีการพัฒนาสินค้าแล้ว 50-60 ราย และมี 8 รายที่ประสบความสำเร็จ มีรายได้สูงเฉลี่ย 2 แสนบาทต่อเดือนขึ้นไป บางรายมีรายรับถึง 5 แสนบาทต่อเดือน สิ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะมีความต่างออกไปจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ นอกจากช่องทางออฟไลน์ ที่เป็นการขายผ่านหน้าร้านปกติ ยังผลักดันให้มีการขายผ่านระบบออนไลน์ โดยได้พัฒนาแฟลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อนำสินค้าวิสาหกิจชุมชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ขายผ่านออนไลน์ ที่ชื่อว่า eonlineshop.net เพื่อให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยเตรียมเปิดตัวเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยตัวเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย จะมีกระบวนการทำงาน 2 ส่วน คือ ส่วนของเจ้าของผลิตภัณฑ์ และส่วนของเซลส์แมนหรือตัวแทนจำหน่าย ซึ่งจะได้รับเงินส่วนต่างจากการขาย โดยกลุ่มแรกจะดึงนักศึกษาจบใหม่ กลุ่มที่ว่างงาน และเป็นกลุ่มที่ชอบเล่นโซเชียลฯ นำสินค้าไปวางบนเพจต่างๆ ซึ่งระบบทั้งหมดอยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากหากกลุ่มคนว่างงาน หรือมีงานทำอยู่แล้ว แต่ต้องการหารายได้เสริมก็สามารถสมัครเป็นเซลส์แมนได้

“การช่วยเหลือจากศูนย์จะครบทุกกระบวน การ ตั้งแต่การพัฒนาสินค้า การสนับสนุนเครื่อง จักร และจากการวิจัยตลาดจีนพบว่าต้องการสินค้าพรีเมียม จึงมีการช่วยผู้ประกอบการพัฒนาแพคเกจจิ้งที่เน้นความสวยงาม ดูหรูหรา เป็นของฝาก ห้ามมีภาษาจีน ต้องเป็นภาษาไทยและอังกฤษเท่านั้น เพื่อให้ดูว่าเป็นสินค้านำเข้า แต่ตอนนี้ติดโควิด จึงยังเปิดตัวไม่เต็มที่ โดยตั้งเป้าหมายว่าปี 2564 จะมีสินค้าจำหน่าย 60-120 ผลิตภัณฑ์ และเมื่อแพลตฟอร์มออนไลน์สำเร็จ มหาวิทยาลัยอาจจะขยายความร่วมมือมหาวิยาลัยอื่นๆ ภายใต้เครือข่ายของศูนย์แห่งความเป็นเลิศ เพื่อผลักดันให้เป็นจุดรวบรวมสินค้าออนไลน์ของวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศต่อไป” ผศ.ดร.จุมพลกล่าวทิ้งท้าย

เป็นการผสานระหว่างหน่วยงานรัฐและสถาบันด้านศึกษา ที่เป็นอีกความหวังของวิสาหกิจชุมชนไทยจะเติบโตต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image