ดัชนีหุ้น ก.ย.ฮวบกว่า 5% ส่วน 9 เดือนซื้อขายเฉลี่ย 6.4 หมื่นล.

ดัชนีหุ้น ก.ย.ฮวบกว่า 5% ส่วน 9 เดือนซื้อขายเฉลี่ย 6.4 หมื่นล.

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า เดือนกันยายน 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับลดลงเล็กน้อย ณ ปิดที่ 1,237.04 จุด ลดลง 5.6% จากเดือนก่อน และปรับลดลง 21.7% จากสิ้นปีก่อน เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่า กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มบริการ และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ปรับตัวดีกว่าภาพรวมตลาด โดยยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หมวดธุรกิจการเกษตร และหมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก ส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ของเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 47,896 ล้านบาท ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 64,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายศรพล กล่าวว่า ในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยคิดเป็น 43.51% ของมูลค่าการซื้อขายรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี ขณะที่ ผู้ลงทุนต่างประเทศยังมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2563 ขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยกว่า 2.76 แสนล้านบาท โดยผู้ลงทุนกลุ่มอื่นเป็นผู้ซื้อสุทธิ โดยมีกิจกรรมระดมทุน (ไอพีโอ) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ในตลาดหลักทรัพยฯ 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) ทำให้ใน 9 เดือนแรกของปี 2563 รวมแล้วมีมูลค่าระดมทุนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในอาเซียน

“ธีมการลงทุนที่น่าสนใจของตลาดหุ้นไทย บนความผันผวนจากปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อัตราการเติบโตของหลายประเทศที่ชะลอตัวลง การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ และการเมืองในประเทศ โดยการลงทุนในช่วงนี้จะต้องเป็นการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำที่น่าสนใจ โดยแนะธีมการลงทุนไว้ 2 ธีม ซึ่งเป็นธีมการลงทุนที่เน้นลงทุนในธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งจำเป็นต่อพื้นฐานในการดำรงชีวิต อาทิ ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค

รวมถึงอีกสองธุรกิจที่ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต อันได้แก่ การสื่อสาร และ สาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยหากทดลองจัดพอร์ตการลงทุนแบบหุ้นของต้องใช้ แบ่งเป็น เครื่องนุ่งห่ม 0.16%, อาหาร 32.44%, ที่อยู่อาศัย 19.96%, การสื่อสาร 18.17%, สาธารณูปโภค 16.86%, ยารักษาโรค 12.4% พบว่า ประสิทธิภาพ 3 ปีย้อนหลัง 5 ปีย้อนหลัง หรือ 10 ปีย้อนหลัง ผลตอนแทนโดยรวมจากการลงทุนชนะหุ้นในตลท. 100 อันดับแรกถึง 2 เท่า รวมถึงให้คัดเลือกหุ้นที่มีค่าความผันผวนต่ำที่สุด 40 ตัวในแต่ละช่วงเวลา โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อทำให้ความผันผวนโดยรวมของกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลงทุนมีค่าลดลงหรือต่ำกว่าความผันผวนโดยรวมของตลาด” นายศรพล กล่าว

Advertisement

ด้าน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้กลับไปใช้เกณฑ์ธุรกรรมการขายชอร์ตปกติ (ชอร์ตเซล) แบบ Zero Plus Tick (ใช้ราคาที่สูงกว่าหรือเท่ากับราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย) จากเดิมใช้เกณฑ์ชั่วคราวแบบ Uptick (ใช้ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 นั้น โดยช่วงที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯมีการเฝ้าติดตามมาโดยตลอด ซึ่งพบว่าธุรกรรมการทำชอร์ตเซลของนักลงทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่มีการใช้เกณฑ์ชั่วคราวในช่วงเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 4-5% จากเดิมที่อยู่ระดับ 5-6% ซึ่งพฤติกรรมของนักลงทุนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ผ่านมา

โดยก่อนออกจากมาตรการชั่วคราวแบบ Uptick มีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 4-8% ซึ่งปัจจุบันหลังมีการกลับมาใช้เกณฑ์ปกติ Zero Plus Tick พบว่ามีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 1-4% ภายในช่วง 7-8 วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามทางตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีดูแลประเภทของหุ้นและพฤติกรรมของนักลงทุน รวมถึงการติดตามความเคลื่อนไหวการทำธุรกรรมชอร์ตเซลเพื่อสังเกตว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้ มองว่าปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯต้องมอนิเตอร์ภาวะโดยรวมของตลาดหุ้นไทยมากขึ้น เพราะใกล้ช่วงการเลือกตั้งของประเทศสหรัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อตลาดทุนทั่วโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image