เศรษฐา ทวีสิน : เมื่อข้อมูลไม่หลอกเรา อะไรที่ท่านนายกฯ น่าจะลงมือทำ

เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา ทวีสิน : เมื่อข้อมูลไม่หลอกเรา อะไรที่ท่านนายกฯ น่าจะลงมือทำ

เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาได้เจอพันธมิตรแพล็ตฟอร์มเทคโนโลยีอย่าง Google และ Twitter มาอธิบายให้เข้าใจถึงข้อมูลมหาศาลที่เค้ามีให้เรานำมาใช้ประโยชน์วิเคราะห์ได้มากมายหลายแง่มุม มีหลายเรื่องที่ผมเองก็ไม่เคยทราบมาก่อน ก็นับว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาในระดับหนึ่ง จบจากการพูดคุยก็เลยรู้สึกว่าคนเราขอแค่ให้มีความ “อยาก” จะเข้าใจข้อมูลที่มันไม่หลอก และก็ต้องยอมรับว่าข้อมูลที่แสดงอาจไม่ตรงกับ “สิ่งที่เราอยากได้ยิน” แค่นี้เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีมากมายรอบตัวได้

ยังคุยกันเล่นๆ กับเค้าเลยว่าอยากให้ทีมเค้าได้มีเวทีในการแชร์เรื่องของข้อมูลที่เค้ามีให้กับท่านนายกฯ และทีมรัฐมนตรีของท่านเป็นประจำจังเลยครับ ข้อมูลพวกนี้ไม่หลอกใคร น่าจะมีแง่มุมให้ท่านและทีมวิเคราะห์ได้ตีความจากพฤติกรรมของประชากรได้เยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูลที่อาจบ่งบอกอุปสงค์ในแต่ละเรื่องแบบกลายๆ หรือข้อมูลการพูดคุยของคนบนแพล็ตฟอร์มเหล่านี้ ผมว่านะบรรดานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่เข็นกันออกมา เห็นข้อมูลพวกนี้อาจทำให้ท่านขยับเร็วขึ้นครับ

มีสัญญาณข้อมูลของ Google อันหนึ่งที่น่าสนใจคือ เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคยังค้นหาคำว่า “ที่อยู่อาศัย” “บ้าน” “คอนโดฯ” แบรนด์ต่างๆ (รวมทั้งของเราด้วย) มากขึ้นต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง นั่นแปลว่า อุปสงค์ ยังมีต่อเนื่องเหลือแค่มาตรการต่างๆ ที่ภาคประชาชนรอสัญญาณที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะสนับสนุนยังไง ถ้ายังจำกันได้ท่านนายกฯ ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการอสังหาฯ ตั้งแต่ 4 กันยายนที่ผ่านมา นี่ก็เดือนกว่าแล้ว เรายังไม่ค่อยเห็นอะไรเป็นรูปธรรมเลย

ก็อยากจะย้อนกลับมาถึงเรื่องที่ผมพูดถึงมาโดยตลอด ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลมีการออกมาตรการแจกเงินชิม ช็อป ใช้ มาอยู่เรื่อยๆ เหมือนฝนตกไม่ทั่วฟ้าเป็นแรงจูงใจระยะสั้นให้คนควักกระเป๋าซื้อในวันนี้แทน เพื่อเก็บโกยผลประโยชน์ที่รัฐแจกฟรีให้ในช่วงสั้นๆ ตัวคูณทวีของรายจ่ายหรือ Multiplier Effect ต่ำ ไม่สามารถคาดหวังได้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตตามเม็ดเงินที่รัฐเอาภาษีประชาชนมาจ่ายไป ตรงกันข้าม กลับเป็นเงินที่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเสียด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วเรื่องตัวคูณทวีของรายจ่ายผมพูดมากับรัฐบาลหลายชุดแล้วตั้งแต่ 10 ปีก่อน ลองไปหาดูได้ครับ มายุคนี้ผมก็ยังอยากพูดถึงอีกครั้ง ลองมองหาภาคธุรกิจที่มีตัวคูณทวีนี้สูงๆ นะครับ เช่น ท่องเที่ยว หรืออสังหาฯ แล้วออกนโยบายมาช่วยกระตุ้นเป็นรูปธรรมดีกว่าครับ ดีกว่าแจกเงินแน่นอน

Advertisement

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจะต้องเจาะจงเป็นอสังหาฯ ที่จะช่วยกระตุ้นตลาด และการบริโภคได้ด้วยตัวคูณทวีของรายจ่าย นั่นก็เป็นเพราะธุรกิจอสังหาฯ มีความเกี่ยวเนื่องกับสินค้าอื่นๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของตกแต่งบ้าน วัสดุก่อสร้างต่างๆ ซึ่งถ้าคิดง่ายๆ ก็คือธุรกิจอสังหาฯ ต้องใช้สินค้าเหล่านี้ และสินค้าเหล่านี้ก็มาจากการจ้างงานเพื่อผลิต ดังนั้นไม่ใช่เฉพาะซื้อบ้านหรือจ้างคนสร้างบ้าน แต่ส่งผลถึงการซื้อสินค้าชนิดอื่นและการจ้างคนผลิตสินค้าเหล่านี้ ซึ่งท้ายสุดแล้ว แรงงานเหล่านี้ก็นำรายได้มาใช้ในการอุปโภคและบริโภค กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอีกต่อหนึ่ง

ผมต้องขออนุญาตอธิบายเรื่องตัวคูณทวีของรายจ่ายอย่างง่ายๆ ตรงนี้ เพราะผมเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกมากที่อ่านข่าวแล้วไม่เข้าใจประเด็นที่ลึกลงไปของแนวนโยบายดังกล่าว สำหรับนักวิชาการและนักวิเคราะห์ที่ติดตามนโยบายรัฐบาล หลักการทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องยากที่จะตีความ แต่ผมคิดว่าควรที่ต้องมีการอธิบายหรือขยายความให้ชัดเจนให้ประชาชนทั่วไปทราบครับ

แล้วมาตรการอะไรบ้างที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดตัวคูณทวีของรายจ่าย สถานการณ์ตอนนี้ถามคำเถอะครับ ใครจะกล้าเสี่ยงเก็งกำไรกันบ้าง อยากเสนอให้ยกเลิก LTV ลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก ขยายเวลา leasehold ออกเป็น 99 ปี มาตรการแบบนี้เข็นออกมาครับ แล้วติดตามผลตัวเลขอย่างชัดเจน ผมเชื่อว่าน่าจะมีผลกระทบทางบวก แถมตัวคูณทวีของรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นมีเยอะแน่นอน หรือถ้าเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ทำได้ เพราะเราจัดการโควิดได้ดี น่าจะพิจารณา Golden Visa สำหรับต่างชาติที่มาลงทุน ซื้อที่อยู่อาศัย ซื้อตราสารเงิน ฯลฯ อย่างโปรตุเกสเค้าก็มีแล้ว น่าจะเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่เรานำมาใช้ คนพวกนี้ก็มีผลต่อตัวคูณทวีของรายจ่ายในประเทศเราเยอะนะครับ

เห็นไหมครับว่าข้อมูลมีไว้วิเคราะห์เพื่อออกแอคชั่น ถ้าไม่ลงมือทำก็ไม่มีประโยชน์ ผมเชื่อว่าท่านนายกฯ และทีมงานมีข้อมูลที่วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงเพื่อออกมาตรการได้มากมาย รีบลงมือทำตอนนี้ก็มีทั้งได้และเสีย แต่ถ้าไม่ทำเลยรับประกันว่าจะมีแต่เสียกับเสียครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image