กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.90-31.30 มองสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ผันผวน

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.90-31.30 มองสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ผันผวน

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.90-31.30 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ 31.06 ต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์ โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 7.7 พันล้านบาท และ 1.4 พันล้านบาท ตามลำดับ

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ รวมถึงท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ หลังจากตลาดเริ่มมีความหวังเกี่ยวกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ และอาการป่วยของทรัมป์ที่เริ่มดีขึ้นช่วยลดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่าเศรษฐกิจจะเผชิญกับความเสี่ยงหากไม่สามารถควบคุม COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฟดเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการด้านการคลังเพื่อเยียวยาธุรกิจและครัวเรือน  อนึ่ง การคาดการณ์ที่ว่านายไบเดนอาจชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. และพรรคเดโมแครตอาจได้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ (Blue Wave) จะนำไปสู่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยตลาดเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ในระยะถัดไป  ขณะที่ในระยะสั้น ตลาดสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอาจเคลื่อนไหวผันผวนหลังธนาคารกลางจีนประกาศช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่าจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงินในการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (Forward) สกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งตลาดมองว่าเป็นมาตรการชะลอการแข็งค่าของเงินหยวน นอกจากนี้ ตลาดยังให้ความสนใจความคืบหน้าการเจรจา Brexit ก่อนประชุมสุดยอดผู้นำยุโรป (European Council Summit) ในวันที่ 15-16 ตุลาคม 2563

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนจะจับตาอุณหภูมิทางการเมืองเป็นสำคัญ ด้านศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ

ขณะที่ รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 23 กันยายน บ่งชี้ว่า กนง.เห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ใช้ในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อประสิทธิผลสูงสุด ส่วนการลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบันอาจมีประสิทธิผลไม่มากนัก นอกจากนี้ ผู้ดำเนินนโยบายยังเห็นว่า ควรเร่งสร้างสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image