ประเดิมสมัคร กสทช. วันแรก แค่ 2 ‘นักวิชาการ’ จี้ใช้สูตรผสม คนเก่า-ใหม่

ประเดิมสมัคร กสทช. วันแรก แค่ 2 ‘นักวิชาการ’ จี้ใช้สูตรผสม คนเก่า-ใหม่

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 รายงานข่าวแจ้งว่า หลังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาออกประกาศ เรื่อง การรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดชั่วคราว จำนวน 7 คน แทนชุดเดิม ซึ่งหมดวาระไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

 การสรรหา กรรมการ กสทช. จำนวน 7 คน จากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ด้านละ 1 คน ประกอบด้วย 1.ด้านกิจการกระจายเสียง 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.ด้านวิศวกรรม 5.ด้านกฎหมาย 6.ด้านเศรษฐศาสตร์ และ 7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

สำหรับผู้สนใจที่มีคุณสมบัติตามกำหนดสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2563 เป็นต้นไป และกำหนดวันรับสมัครตั้งแต่วันที่ 14-28 ตุลาคม 2563 ในเวลาราชการโดยไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยให้ยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

Advertisement

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า มีบุคคลในแวดวงโทรคมนาคมและที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจ และยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหา วันแรก (14 ตุลาคม 2563) จำนวน 2 คน ประกอบด้วย 1.นายวันชัย ผโลทัยถเกิง อายุ 63 ปี กรรมการอิสระ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า และ 2.นายวุฒิพร เดี่ยวพานิช อายุ 68 ปี นายกสมาคมสิทธิผู้บริโภค

ขณะที่ นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้เคยยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหา กรรมการ กสทช. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) กล่าวว่า สำหรับรอบนี้ที่ใช้ พ.ร.บ.กสทช. เดิมในการสรรหา ส่วนตัวพิจารณาแล้วว่าด้วยคุณสมบัติและปัจจัยอื่นๆ ยังไม่สนใจที่จะยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหา แต่คุณสมบัติของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ค่อนข้างมีความน่าสนใจ เพราะน่าจะใช้ไปอีกหลายปี ประกอบกับน่าจะเป็นห้วงเวลาที่มีการสรรหากรรมการ กสทช. ในยุคที่มีทั้งการเปลี่ยนผ่าน ความท้าทายหลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เทคโนโลยีต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งที่จริงโควิด-19 เป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เทคโนโลยีโทรคมนาคมหลายตัวเกิดเร็วขึ้น ฉะนั้น ในอนาคตการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาจต้องเกี่ยวพันกับหลายเรื่อง อาทิ การรักษาพยาบาล ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) หรือกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่กิจการโทรคมนาคม ดาวเทียม แต่รวมถึงการขนส่ง การเกษตรด้วย ซึ่งหวังว่า ไม่ว่าคุณสมบัติจะออกมากี่ตำแหน่ง หรือมีตำแหน่งใดบ้าง จะต้องตอบโจทย์ต่อการพัฒนาประเทศในเชิงเทคโนโลยีดิจิทัล

สำหรับที่มีกระแสข่าวว่า กรรมการ กสทช. หลังการสรรหานี้ จะเป็นชุดชั่วคราวแต่ใช้ตลอดไป นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า อาจจะพูดยาก เพราะในแง่ของกฎหมายก็ย่อมมีการเขียนกฎหมาย หรือการใช้บทเฉพาะการ หรือบทเว้นวรรค จึงขึ้นอยู่ที่ระดับนโยบายของประเทศมากกว่าว่าจะทำอย่างไร เพราะความเป็นจริงหากบอกว่า พ.ร.บ.ใหม่ออกมาแล้วใช้ได้ทันทีก็ย่อมได้ ซึ่งกฎหมายเขียนเปิดช่องไว้เป็นเรื่องปกติ มีในกฎหมายทุกตัว ซึ่งนักกฎหมายมักจะเขียนกฎหมายแบบนี้ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่ที่ผู้นำตัวกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ไปใช้มากกว่าว่า จะมีวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ที่จะใช้บทบัญญัตินั้นอย่างไร โดยจะใช้แบบชั่วคราวหรือจะใช้แบบยาวนาน จึงยังไม่อยากให้ตั้งแง่ที่ลายลักษณ์อักษรของกฎหมาย แต่ควรพิจารณาหรือให้ความสำคัญกับการนำไปใช้มากกว่า

Advertisement

“มีความเป็นไปได้ว่า กรรมการ กสทช. หลังการสรรหานี้จะได้บุคคลที่อยู่ในแวดวง กสทช. เดิม แต่ก็อาจจะไม่ใช่ทั้งชุด ซึ่งก็ต้องเปิดใจกลางๆ ว่าอาจจะเห็นคนที่เราเคยเห็น และมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีความเข้าใจในเรื่องของการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเข้ามาครึ่งหนึ่ง และเป็นกรรมการใหม่ๆ อีกครึ่งหนึ่งก็เป็นได้ ยังไม่อยากให้ตั้งธงว่า จะเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวง กสทช. เดิมทั้งหมด หรือคนใหม่ทั้งหมด แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะมีทั้งเก่าและใหม่รวมกัน ซึ่งหากเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวง กสทช. เดิม ก็จะรู้ถึงปัญหา เพราะเคยฝ่าฟันกับปัญหามาก่อน ประกอบกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องอาศัยหลายอย่าง ทั้งกฎระเบียบ การขอความร่วมมือ การเร่งรัด การเข้าใจธรรมชาติของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หากได้ผู้ที่มีประสบการณ์ หรือผู้ที่อยู่ในแวดวง โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นองค์กรกำกับดูแลก็จะเป็นผลดี ส่วนคนใหม่ ก็จะได้มุมมองในมิติใหม่หรือกิจการใหม่ๆ ซึ่ง กสทช. เองก็มีพันธกิจเพิ่มขึ้น อาทิ เรื่องดาวเทียมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงอยากให้มองมุมที่ผสมผสานกัน ส่วนตัวอยากให้มีทั้งเก่าและใหม่ผสมกัน เปิดใจและรับฟังการทำงาน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก กฎระเบียบต้องเปลี่ยนให้ทัน หรือก้าวหน้ากว่าเทคโนโลยี เพราะไม่อย่างนั้นก็จะล่าหลังอยู่ตลอด”  นายสืบศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image