‘โบรก’ ประเมิน ‘ม็อบ’ กดดันตลาดหุ้นไทย หวั่นทำดัชนีร่วงหลุด 1,200 จุด

‘โบรก’ ประเมิน ‘ม็อบ’ กดดันตลาดหุ้นไทย หวั่นทำดัชนีร่วงหลุด 1,200 จุด

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ในกรณีที่มีการชุมนุมแสดงจุดยืนทางการเมือ ซึ่งขณะนี้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น มีความกังวลว่า สถานการณ์การชุมนุมจะลุกลามมากน้อยเท่าใด หลังจากที่มีภาพการสลายการชุมนุมออกมา โดยรัฐบาลได้นำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจังมากขึ้น ทำให้การปะทะกันที่เริ่มมีภาพออกมามากขึ้น จะเป็นความเสี่ยงให้ทั้งตลาดหุ้นไทย และเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย โดยอาจเห็นดัชนีปรับลดลงลึกแตะระดับ 1,200 จุด หรือหลุดระดับดังกล่าวได้ หากการเมืองรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต

“ตราบใดที่การเมืองยังไม่มีภาพของการคลายตัวลง ก็จะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันการปรับขึ้นของดัชนีหุ้น รวมถึงขณะนี้ปัจจัยต่างประเทศก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะความคาดหวังการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ดูจะเบาลง และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศ ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างน่ากังวล ประกอบกับความคาดหวังที่จะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมา ทำให้ขณะนี้ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ดูยังไม่มีทิศทางที่ดีมากนัก” นายณัฐพล กล่าว

นายณัฐพล กล่าวว่า หากการชุมนุมมีความรุนแรงขึ้นจนถึงกับเสียเลือดเสียเนื้อ จะส่งผลให้เกิดแรงเทขายหุ้นหรือไม่นั้น เนื่องจากขณะนี้หากประเมินเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะเห็นว่ามีสถานะขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง และหากมีความไม่แน่นอนทางการเมือง ต่างชาติก็จะไม่มีการเข้าซื้อเพิ่มเติมแน่นอน แต่ที่น่าเป็นกังวลมากกว่า เป็นส่วนของนักลงทุนสถาบันมากกว่า ที่หากมีความอ่อนไหวทางการเมือง จะทำให้ลดน้ำหนักในการเข้าซื้อหุ้นไทย และหากมีแรงเทขายออกมา ก็จะเป็นแรงกดดันในตลาดหุ้นเพิ่มเติมอีก

นายณัฐพล กล่าวว่า ในระยะถัดไป ประเมินปัจจัยการเมืองไทยจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และการไหลกลับเข้ามาของฟันด์โฟลว์หรือไม่ ต้องยอมรับว่าปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองมีผลกระทบในเชิงลบอยู่แล้ว แต่เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยทิ้งในสัดส่วนที่สูงมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงกรณีผลกระทบจากเรื่องการเมืองที่มีความไม่แน่นอน ก็ไม่ใช่เพิ่งเคยมีเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็ปัจจัยกระทบในเชิงลบมาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

นายณัฐพล กล่าวว่า ในส่วนของการใช้พรก.ฉุกเฉิน หากมีการใช้จริง จะเพิ่มน้ำหนักให้การเมืองมีความรุนแรงมากขึ้นอีก ส่วนจะมีผลกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีออกมา ทำให้เห็นผลน้อยลงหรือไม่นั้น เนื่องจากผลเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด ยังไม่ทันได้เห็นผลบวกอย่างเป็นรูปธรรม ก็มีเรื่องการเมืองเข้ามากดดันก่อน ทำให้ปัจจัยการเมืองที่ยังไม่คลายตัวไปทางใดทางหนึ่ง จะทำให้แย่ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงมองว่าต้องทำให้การเมืองคลายตัวก่อน ค่อยหันมากระตุ้นเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง เพราะหากการเมืองยังเป็นลักษณะนี้ ต่อให้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินเพิ่มเป็น 10,000 บาทต่อคน เศรษฐกิจฟื้นไม่ได้อยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image