ความน่ากลัวของ‘เงินเฟ้อ’ แค่ฝนฟ้าคะนอง หรือมรสุมโลกการเงิน

ความน่ากลัวของ‘เงินเฟ้อ’ แค่ฝนฟ้าคะนอง หรือมรสุมโลกการเงิน

ความน่ากลัวของ‘เงินเฟ้อ’ แค่ฝนฟ้าคะนอง หรือมรสุมโลกการเงิน

หนึ่งในตัวแปรเศรษฐกิจที่มีคนพูดถึงมากในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น “เงินเฟ้อ” เพราะจากวิกฤตโควิด-19 แทบทุกรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก ต่างหันมาใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำและเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ก่อให้เกิดความกังวลว่าราคาสินค้าซึ่งเป็นตัวแปรหลักของเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นในไม่ช้า แต่เหล่าผู้กำหนดนโยบายกลับส่งสัญญาณว่าจะ “ยอม” ให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นได้มากกว่าเป้าหมาย จนนักลงทุนหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า

เฟ้อหรือฝืดกันแน่ที่เราควรกังวล

เฟ้อสูงหรือฝืดมากแค่ไหนถึงจะเป็นปัญหา

Advertisement

ไปจนถึงผลกระทบที่ควรคาดหวังบนสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ

ส่วนตัวผมมองว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการตีความเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปมาก ควรค่าแก่การกลับมาวิเคราะห์อีกครั้งถึงความน่ากลัวของเงินเฟ้อในอนาคตว่าจะเป็นแค่ฝนฟ้าคะนอง หรือจะใหญ่โตจนกลายเป็นมรสุมของตลาดการเงินกันแน่

โดยความเสี่ยงเงินเฟ้อปกติ ขึ้นอยู่กับ “สี่” องค์ประกอบ นั่นคือ จุดเริ่มต้น ทิศทาง ขนาดการเปลี่ยนแปลง และความคาดหวัง

Advertisement

มองจากจุดตั้งต้น เงินเฟ้อต่ำมักดีกว่าเงินเฟ้อสูง

ตัวอย่างที่ความสัมพันธ์เห็นได้ชัดที่สุดคือสหรัฐ ที่ตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 ผลตอบแทนของ S&P 500 ใน 1 ปีข้างหน้าจะแปร “ผกผัน” กับระดับเงินเฟ้อ หรือยิ่งเงินเฟ้อต่ำจะยิ่งดีกับหุ้นสหรัฐ อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อต่ำก็ใช่ว่าจะดีไปทุกครั้งเพราะส่วนหนึ่งมักเกิดจากการบริโภคที่ชะลอตัว (เช่นในญี่ปุ่นช่วงหลังวิกฤตปี ค.ศ.1980s) ในภาวะดังกล่าว ถ้าไม่มีนโยบายการเงินเข้ามาช่วยก็ยากที่สินทรัพย์เสี่ยงจะฟื้นตัวได้

ส่วนเรื่องทิศทาง เหตุการณ์ที่ต้องระวังคือช่วงที่เงินเฟ้อสูงและกำลังสูงขึ้น หรือเงินเฟ้อต่ำและมีทิศทางต่ำลง

โดยในสหรัฐ ช่วงที่การลงทุนแย่ที่สุด (เฉลี่ยติดลบ 5% ถึงบวก 2% ต่อปี) มีด้วยกันสองช่วงคือเมื่อเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นกว่า 3% ด้วยแนวโน้มที่สูงขึ้น กับช่วงที่เงินเฟ้อร่วงลงต่ำกว่า 1% และมีทิศทางลดลง เทียบกับช่วงอื่นๆ ที่ S&P 500 มักปรับตัวขึ้นได้อย่างน้อย 7% ต่อปี

นอกจากนี้ ความคาดหวังเงินเฟ้อที่ต่ำ และการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อที่สูงผิดปกติ (ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง) เป็นสองประเด็นสุดท้ายที่นำไปสู่มรสุมการเงิน

จากข้อมูลฝั่งสหรัฐและยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 พบว่าการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อราว 1% ต่อปี สามารถกดดันให้ผลตอบแทนของหุ้นลดลงได้เกือบ 10% ในช่วงเดียวกัน ขณะที่ดัชนี S&P 500 ก็มักปรับตัวลงไปติดลบแทบทุกครั้งที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าของความผันผวน (Standard Deviation) หรือ 0.2% ในเดือนเดียวเทียบจากระดับปัจจุบัน

ดังนั้น ถ้าถามว่าวันนี้เงินเฟ้อน่ากลัวหรือไม่คำตอบคือ “ไม่น่ากลัว” แต่ในอนาคต ถ้าบอนด์ยีลด์ขยับขึ้นโดยมีเงินเฟ้อเป็นเหตุผลก็ต้องเตรียมรับความผันผวนกันไว้ด้วย

ส่วนในตลาดการเงินมักมีการพูดถึง “สาม” ความสัมพันธ์หลัก

อย่างแรก “หุ้นกับบอนด์” ความสัมพันธ์ที่กลับด้านอาจเกิดขึ้นเร็วเมื่อเงินเฟ้อสูง

โดยตลาดที่มักกลับความสัมพันธ์ คือฝั่งยุโรปและ EM (Emerging Market หรือระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่) ที่มีหุ้นเทคโนโลยีน้อยแต่หนักไปทางพลังงานและอุตสาหกรรม โดยในอดีตเมื่อไรก็ตามที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นกว่า 4% ในยุโรป ก็จะเกิดการปรับพอร์ตขายบอนด์เข้าซื้อหุ้นตามมา

ส่วนคู่สินทรัพย์ที่มักถูกพูดถึงต่อมาคือ “Growth กับ Value” ซึ่งจริงที่หุ้นมูลค่ามักอ่อนไหวกับเงินเฟ้อมากกว่าหุ้นเติบโตสูง แต่ความแตกต่างไม่ได้มากมายอย่างที่หลายคนคิด

นั่นก็เป็นเพราะว่าเงินเฟ้อไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบกับหุ้นเติบโตสูง ทั้งในแง่ต้นทุน และผลตอบแทนคาดหวังเปรียบเทียบ

เห็นได้จากการที่เงินเฟ้อไม่ได้กดดันธนาคารกลางให้จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากเท่าแต่ก่อน ขณะที่การเติบโตและอนาคตของหุ้น Growth สมัยนี้ก็แข็งแกร่งพอที่จะซื้อใจนักลงทุนส่วนใหญ่ไว้ได้ด้วย

ความสัมพันธ์สุดท้ายคือ “Cyclicals และ Defensives” ซึ่งหวังได้มากที่สุด โดยมีสิ่งที่ต้องจับตาคือความคาดหวังเงินเฟ้อและบอนด์ยีลด์ระยะยาว

ตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างส่วนต่างของหุ้นกลุ่ม Cyclicals เช่นอุตสาหกรรมขั้นต้น และ Defensives เช่นบริการสาธารณูปโภค กับ Breakeven Inflation ทั้งในสหรัฐและยุโรปอยู่ในที่ระดับ 0.7 หมายความว่าเมื่อไรที่นักลงทุนคาดหวังว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น ก็จะลดการลงทุนในกลุ่มปลอดภัย และกลับเข้าเก็งกำไรไปกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นแทบทุกครั้ง

โดยสรุป สำหรับเศรษฐกิจ “เงินเฟ้อ” เปรียบเสมือนลมฝน มากหรือน้อยไปก็ไม่ดีไม่ต่างกับท่อนฮุคของเพลง Inflation Targeting ft. Denyque โดย Bank of Jamaica ที่ร้องว่า “When it’s [inflation] too high, people are going to cry. When it’s too low, the economy can’t grow.”

ส่วนในตลาดการเงินจะฝนฟ้าคะนองหรือมรสุมก็ไม่ได้แย่ไปเสียหมด แค่ต้องรู้ว่าเงินเฟ้อดีหรือไม่ดีกับสินทรัพย์แบบไหน และเมื่อเข้าใจแล้วก็อย่าลืมปรับพอร์ตเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อในปีหน้ากันให้ดีครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image