กกร.ส่อง “เศรษฐกิจไทย” ในปัจจัยผันผวนไม่แน่นอน

กกร.ส่อง “เศรษฐกิจไทย” ในปัจจัยผันผวนไม่แน่นอน

ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประจำเดือนตุลาคม 2563 ได้พิจารณาประเด็นเศรษฐกิจเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 โดยต่างจับตาการแพร่ระบาดรอบ 2 ของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่รุนแรงขึ้น และขยายขอบเขตไปหลายประเทศในเดือนกันยายน ทั้งสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร รัสเซีย อินเดีย และหลายแห่งในเอเชีย ทำให้แรงขับเคลื่อนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งสัญญาณแผ่วลงเหลือแค่จีนเป็นหลัก

อีกประเด็นที่ กกร.จับตา คือสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าจากผลของดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เงินบาทแตะระดับ 31.7 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาตลาดกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้ราคาสินค้าสินทรัพย์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงเพราะกังวลการระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยการเมืองทั้งฝั่งสหรัฐ ยุโรป รวมทั้งความผันผวนที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ติดโควิด-19 ทำให้โอกาสที่นายทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งลดลงมาก โดยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ช่วงที่เหลือของปีนี้นักวิเคราะห์ยังมองค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่า

ขณะที่สถานการณ์การส่งออกพบว่าสัญญาณฟื้นตัว จากเดือนสิงหาคม 2563 ที่หดตัวน้อยลงในกลุ่มยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การส่งออกจากทุกตลาด ได้แก่ ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน อาเซียนและกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี พบว่าแทบทุกตลาดหดตัวน้อยลง ขณะที่สหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง

Advertisement

ด้านการท่องเที่ยว กกร.พบว่าผลจากวันหยุดยาวในเดือนกันยายน คือ 4-7 กันยายน 2563 พบว่าไม่ได้กระตุ้นการเดินทางมากนัก อัตราการเข้าพักโรงแรมจึงอาจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ตลอด 8 เดือนแรกของปีนี้ ภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 74.8% โดยนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยหดตัว 83.7% ขณะที่เดือนสิงหาคม 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติ -100% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ขณะที่เศรษฐกิจเดือนสิงหาคม 2563 ดีขึ้นทั้งหมด ประกอบด้วย การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยลง อยู่ที่ -4.6% ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว

Advertisement

ด้านการบริโภคภาคเอกชน อยู่ที่ -1.1% หดตัวลดลงเช่นกัน รวมทั้งตัวเลขการส่งออก -8.2% การนำเข้า -19.1% จีดีพีเกษตร +1.2% และจีดีพีการผลิต -9.3% ยกเว้นจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังคงเดิม -100%

จากตัวเลขดังกล่าวทำให้ กกร.ตัดสินใจปรับประมาณการตัวเลขส่งออกปี 2563 เป็น -10% ถึง -8% จากเดิมประมาณการไว้ที่ -12% ถึง -10% ขณะที่จีดีพีปีนี้ประมาณการคงเดิม อยู่ที่ -9% ถึง -7% และอัตราเงินเฟ้อประมาณการคงเดิม -1.5% ถึง -1%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ยังพิจารณาตัวประมาณการเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาปีนี้ ลดจากเดิมที่ 0.1% เป็น -0.7% หดตัวครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ โดยไทยเป็นประเทศที่ประมาณการเศรษฐกิจหดตัวมากที่สุด ระดับ -8% และประมาณการจีดีพี ปี 2564 ขยายตัวค่อนข้างน้อย 4.5%

ส่วนประเทศที่เหลือ พบว่า กัมพูชา ประมาณการจีดีพีปีนี้ -4% ปีหน้าขยายตัว 5.9% อินโดนีเซีย ประมาณการจีดีพีปีนี้ -1% ปีหน้าขยายตัว 5.3% ลาว ประมาณการจีดีพีปีนี้ -2.5% ปีหน้าขยายตัว 4.5% มาเลเซีย ประมาณการจีดีพีปีนี้ -5% ปีหน้าขยายตัว 6.5% เมียนมา ประมาณการจีดีพีปีนี้ขยายตัว 1.8% ปีหน้าขยายตัว 6% ฟิลิปปินส์ ประมาณการจีดีพีปีนี้ -7.3% ปีหน้าขยายตัว 6.5% สิงคโปร์ ประมาณการจีดีพีปีนี้ -6.2% ปีหน้าขยายตัว 4.5% และเวียดนาม ประมาณการจีดีพีปีนี้ขยายตัว 1.8% ปีหน้าขยายตัว 6.3%

ทั้งนี้ พบว่าภาคแรงงานยังน่าห่วง จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ยังไม่สามารถเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวต่างชาติได้ โดยเดือนนี้จำนวนผู้ขอใช้บริการกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 ปีนี้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 2.6 เท่าตัว ล่าสุด เดือนสิงหาคม 2563 จากจำนวนผู้ประกันตัวมาตรา 33 จำนวน 11,117,083 คน มีจำนวนผู้ขอใช้บริการกรณีว่างงานระดับสูงสุดของปี อยู่ที่ 435,010 คน

นอกจากนี้ กกร.ยังติดตามมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปที่ทยอยสิ้นสุดเดือนตุลาคมนี้ โดยงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าผู้กู้ในรูปของครัวเรือน อาจจะมีปัญหาหลังมาตรการสิ้นสุด มีจำนวนประมาณ 2.1 ล้านคน หรือ 9.1% ของผู้กู้ทั้งหมดในฐานข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) โดยหนี้ที่จะมีปัญหาเป็นสินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคล มากกว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ

ทั้งนี้ พบว่าครัวเรือนที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้มีสัดส่วนสูงในต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน หรือตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าหากการท่องเที่ยวในประเทศกลับสู่ภาวะปกติ สัดส่วนผู้กู้ที่อาจมีปัญหาจะลดลงจาก 9.1% เหลือราว 5%

จากข้อมูลข้างต้นจึงสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยว่า เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวตามภาคการส่งออกสินค้า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่การฟื้นตัวยังคงมีจำกัดจาก
ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และภาวะการจ้างงานที่ยังคงเปราะบาง รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ที่กำลังทยอยสิ้นสุดลง จึงต้องจับตาว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้นี้อย่างไร

โดยการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ล่าสุดมีปัจจัยเพิ่มที่ต้องจับตาคือสถานการณ์การเมือง การชุมนุมที่เริ่มบานปลายหลายกลุ่ม ระบาดไม่ต่างกับโควิด-19

เรื่องนี้ เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจ ต้องกล้าตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เพราะวิกฤตครั้งนี้จะซ้ำเติมภาคเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวจากปัญหาที่เกิดก่อนหน้า ทั้งการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวก่อนหน้า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำให้เกิดนิว นอร์มอลทางการเมือง ต้องตัดสินใจว่าจะเร่งดับไฟที่กำลังจุดติด หรือจะถือสายยางแล้วต่อรองกันไปมา เรียกร้องประโยชน์ตัวเอง เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้วจึงฉีดน้ำใส่ไฟที่ลุกโชนแล้ว แบบนี้ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศแน่นอน

“ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นเด็ก การใช้สื่อต่างๆ เรียกได้เต็มปากว่า เป็นการดิสรัปต์การเมืองอย่างแท้จริง หากรัฐบาลยังเดินหน้าการเมืองระบบอนาล็อก การเมืองแบบเก่าๆ ใช้วิธีเดิมๆ เน้นชิงไหวชิงพริบ ใช้ข้ออ้างต่างๆ จะไม่ทันการณ์แน่นอน และสถานการณ์จะแย่ลง” รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวทิ้งท้าย

หลายปัจจัยผันผวนไม่แน่นอน มาดูกันว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวและกลับมาขยายตัวในปี 2564 ตามที่ กกร.คาดการณ์หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image