คนละครึ่งคึกคัก 3 วันแรกใช้แล้ว 502 ล. คนลงทะเบียน 1.2 ล้านคนใช้สิทธิ

คนละครึ่งคึกคัก 3 วันแรกใช้แล้ว 502 ล. คนลงทะเบียน 1.2 ล้านคนใช้สิทธิ ททท.ปรับเกณฑ์เที่ยวด้วยกัน เพิ่มสิทธิพักได้ทุกจังหวัด สศช.วางแผน 5 ปีรับความเสี่ยงดิสรัปชั่น

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่กระทรวงการคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการคนละครึ่งที่เปิดให้ประชาชนจ่ายวันแรกตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกว่า 8.5 ล้านคน และมีร้านค้าร่วมโครงการกว่า 3.5 แสนร้านค้า โดยในช่วงเที่ยงของวันที่ 26 ตุลาคม มีผู้ใช้สิทธิแล้ว 1,245,528 คน ยอดใช้จ่ายรวมทั้งหมด 502.9 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 259.4 ล้านบาท และรัฐช่วยจ่ายอีก 243.5 ล้านบาท โดยมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 234 บาทต่อครั้ง เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของการใช้จ่ายพบว่า มีการใช้จ่ายมากที่สุดเรียงลำดับ ได้แก่ ร้านธงฟ้า ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไป และร้านโอท็อป โดยใช้จ่ายครบทุกจังหวัด ซึ่งจังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครศรีธรรมราช และสงขลา

นายพรชัย กล่าวว่า ประชาชนยังสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ในช่วงเวลา 06.00-23.00 น. ต่อเนื่องทุกวัน จนกว่าจะครบ 10 ล้านคน โดยผู้ที่ได้รับเอสเอ็มเอสยืนยันสิทธิ ต้องใช้จ่ายภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเอสเอ็มเอสมิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิและไม่สามารถลงทะเบียนได้อีก ส่วนผู้ประกอบการร้านค้ายังสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการได้เช่นเดียวกัน

  • ดึงกำนัน-ผญบ.ช่วยจัดเพิ่มร้านค้า

นายพรชัย กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการคลังได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกในการรับสมัครผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านเข้ามาช่วยในการยืนยันข้อมูลผู้ประกอบกิจการร้านค้า เพื่อให้มีร้านค้ารองรับการใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวคาดการณ์ว่า โครงการคนละครึ่งจะมีคนลงทะเบียนครบ 10 ล้านคนตามเป้าหมายแน่นอน อย่างไรก็ตาม ไม่กังวลเรื่องประชาชนไม่ลงทะเบียนรับสิทธิครบตามเป้าหมาย 10 ล้านคนเพราะเป้าหมายของโครงการที่ตั้งไว้เป็นจำนวนของผู้เข้าร่วมโครงการสูงสุดแล้ว หากไม่ถึงก็ไม่เป็นไร ส่วนกรณีที่ร้านค้าไม่ได้รับเงินเข้าบัญชีในวันหยุดนั้น มีการมอบนโยบายให้ธนาคารกรุงไทยศึกษาหาวิธีแก้ไขเพื่อให้จ่ายเงินได้ทุกวันแล้ว การใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่ง ถือว่าไม่ฝืดเพราะต้องการให้ใช้จ่ายแบบรายวัน จำนวนเงินที่จะผ่านระบบโครงการจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นในทุกวัน จึงต้องใช้เวลากว่าวงเงินใช้จ่ายจะครบ 1 หมื่นล้านบาท ตามที่ตั้งไว้

Advertisement

นายกฤษฎากล่าวถึงโครงการช้อปดีมีคืนว่า เป็นโครงการให้ผู้ใช้จ่ายนำไปลดหน่อยภาษีได้ จึงขึ้นอยู่กับผู้เสียภาษีว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ เพราะสามารถเลือกเข้าโครงการช้อปดีมีคืน หรือคนละครึ่ง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจว่าโครงการจะให้ประโยชน์กับตนเองมากที่สุด กรณีลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งแล้วอยากเปลี่ยนไปใช้สิทธิโครงการช้อปดีมีคืน สามารถทำได้โดยการไม่ใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งตามกำหนดคือภายใน 14 วัน ก็จะถูกตัดสิทธิ สามารถเข้าร่วมโครงการช้อปดีมีคืนได้

  • ปรับเที่ยวด้วยกันในภูมิลำเนาได้

น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยวการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กล่าวถึงโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่มีการปรับมาตรการใหม่ว่า ขณะนี้ผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว โดยมีรายละเอียดของการเพิ่มมาตรการคือจะขยายเวลาการใช้สิทธิถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 ผู้ใช้สิทธิ 1 คนใช้ได้ 10 สิทธิต่อห้องต่อหนึ่งคืน สามารถใช้สิทธิในพื้นที่ภูมิลำเนาได้ ถ้าหากใช้สิทธิในวันธรรมดาจะได้รับเงิน โคเพย์ ต่อวันสูงสุด 900 บาท จากเดิม 600 บาท

  • สศช.วางแผน5ปีรับความเสี่ยง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในอนาคตประเมินว่าปัจจัยกดดันในด้านการเมืองระหว่างประเทศจะรุนแรงมากขึ้น เป็นการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นขั้วอำนาจที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมามีการพิพาทกันระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงสหรัฐยังมีข้อพิพาทกับอีกหลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยจะต้องวางตัวให้ดีในแง่ของการเมืองระหว่างแต่ละประเทศ โดยประเมินว่าแม้การชิงขั้วอำนาจระหว่างประเทศคงไม่รุนแรงจนถึงกับเป็นสงครามเย็นเหมือนในอดีต แต่จะเป็นการต่อสู้กันในเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งจะมีการดึงประเทศแบ่งเป็นกลุ่ม ทำให้ประเทศไทยจะต้องวางตัวเป็นกลางให้ดีที่สุด

Advertisement

นายดนุชากล่าวว่า ในอนาคตจะมีเรื่องเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่ประเทศต้องเผชิญในอนาคต โดยใน 5 ปีข้างหน้าต้องวางแผนให้ประเทศมีความยืดหยุ่นที่สามารถต้านทานและรองรับความเสี่ยง ความเปลี่ยนแปลง รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบรุนแรงเป็นวิกฤตใหญ่อีกครั้ง ซึ่งหากมีวิกฤตเข้ามากระทบ ก็อาจทรุดลงได้ แต่ต้องลุกขึ้นมาใหม่ให้ได้และลุกขึ้นมาให้เร็วที่สุด จึงต้องเตรียมประเทศให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอ โดยต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ในการรองรับกับปัญหาที่จะเข้ามา อาทิ ระบบสาธารณสุข การพัฒนาคนในประเทศ และภาคธุรกิจของไทย ที่จะต้องพร้อมเดินหน้าต่อไปให้ได้ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่จะเข้ามา โดยต้องเตรียมให้มีความสามารถในการปรับเปลี่ยน ทั้งด้านกระบวนการผลิต คน กฎหมาย และอีกหลายส่วนที่ต้องปรับให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น

  • เอาอยู่ไม่ต้องเพิ่มเงินเข้าระบบศก.

“อีก 5 ปีข้างหน้า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทุกส่วน เพื่อรองรับการถูกดิสรัปชั่นในแต่ละด้าน อาทิ การศึกษาไทยที่ต้องหาวิธีปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น เพื่อพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีความรู้ที่พร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาในอนาคต ซึ่งจะต้องพยายามหาวิธีในการดำเนินการ เนื่องจากขณะนี้วิธีการในการดำเนินให้เป็นไปตามที่คิดให้ได้ คือสิ่งที่สำคัญมากที่สุด” นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับการเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ มีความจำเป็นในการกู้เงินมาใช้เพิ่มเติมหรือไม่ หากประเมินจากสถานการณ์ในขณะนี้ มองว่ายังสามารถบริหารจัดการได้อยู่ ซึ่งหากมีปัญหาในระดับรุนแรงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะการระบาดโควิด-19 ในประเทศระลอก 2 ซึ่งหากมีการระบาดรอบ 2 จริง ก็จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกรอบ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง รวมถึงสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงมากกว่าเดิม ทำให้ต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง ทำให้ในเชิงงบประมาณที่มีเพิ่มขึ้นจากเงินกู้ก้อน 1 ล้านล้านบาท พยายามใช้ออกไปตามสถานการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่รออยู่ในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการขนาดเล็ก และประชาชนฐานรากจริงๆ นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ การเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ให้กับแรงงาน รวมถึงบุคลากรในประเทศด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image