พณ.แจงไทยถูกตัดจีเอสพี 231 รายการ กระทบจริง 147 รายการ เสียภาษีเพิ่ม 600 ลบ.
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ถึงประกาศประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) เป็นรายประเทศ โดยได้ตัดสิทธิจีเอสพี สินค้าไทยรวม 231 รายการ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่า การเปิดตลาดสินค้าไทยไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้สินค้าไทยต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าไทยจะส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้
นายกีรติ กล่าวว่า ผลจากการตรวจสอบการตัดสิทธิจีเอสพีดังกล่าว พบว่า มีสินค้าไทยที่ใช้สิทธิจริงปี 2562 จำนวน 147 รายการ มีมูลค่าการนำเข้าในสหรัฐฯ ประมาณ 604 ล้านเหรียญสหรัฐ หากคิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติประมาณ 3-4% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 600 ล้านบาท โดยมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น
“การถูกตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสินค้าไทยจะถูกห้ามส่งออกไปสหรัฐฯ ไทยยังส่งออกไปได้ปกติ แต่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ และผลกระทบก็ไม่ใช่ 604 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เพราะตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจำนวน 147 รายการจากไทย แต่ที่กระทบจริง ก็แค่ต้องเสียภาษีเพิ่ม 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 600 ล้านบาท หากสินค้าไทย มีการเน้นคุณภาพ มาตรฐาน สร้างการยอมรับ เชื่อว่าแม้ภาษีจะสูงขึ้นแต่คงไม่มีผลต่อการส่งออก และผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะยังต้องการสินค้าไทยเหมือนเดิม” นายกีรติ กล่าว
นายกีรติ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิจีเอสพี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยได้มีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย เช่น Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯและตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯและตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางออนไลน์ข้ามพรมแดนเข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯและตลาดใหม่โดยตรง
นอกจากนี้ ได้มีการประสานสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ให้ความช่วยเหลือด้านการส่งออก สินเชื่อ และการเสริมสภาพคล่อง รวมทั้งได้เปิดช่องทางในการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรับแจ้งเรื่องผลกระทบจากผู้ประกอบการผ่านไลน์แอพพลิเคชั่นชื่อบัญชี GSP_helper หรือสายด่วน 1385
นายกีรติ กล่าวว่า กรมได้มีการติดตามผลกระทบจากการที่สหรัฐฯตัดสิทธิจีเอสพี สินค้าไทยช่วงปลายปี 2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน2563 จำนวน 573 รายการ ซึ่งมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบจริง 315 รายการ พบว่า การส่งออกสินค้ากลุ่มที่ถูกตัดสิทธิไปสหรัฐฯ ลดลงประมาณ 10% แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากการถูกตัดจีเอสพี หรือผลกระทบจากโควิด-19 เพราะจากการตามดูสินค้า 1 ใน 20 รายการ ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น มี 10 รายการ จาก 315 รายการที่ถูกตัดสิทธิ ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องสุขภัณฑ์ ผ้าผืน ธงชาติ เครื่องล้างจาน ผลไม้ เช่น ลิ้นจี้ ลำไย และหัวเทียน เป็นต้น
“แสดงว่าผลจากจีเอสพีไม่ได้รุนแรง แต่เมื่อดูรายการที่ลดลงของ 315 รายการ พบว่า มีการส่งออกไปประเทศอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น เช่น แว่นตา ตะปู พัดลม แผงสวิชต์และควบคุมไฟฟ้า เครื่องจักรสาน น้ำผลไม้ โดยส่งออกไปยุโรป จีน ฮ่องกง และเอเชียเพิ่มขึ้น แสดงว่าผู้ส่งออกมีการปรับตัวหันไปพึ่งพาตลาดอื่นได้ดีขึ้น สินค้าไทยมีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน แม้ราคาสูงก็มีการซื้อ ไม่ใช้จะซื้อแต่ราคาถูกกว่าอย่างเดียว” นายกีรติ กล่าว
นายกีรติ กล่าวว่า ปัจจุบันสหรัฐฯให้สิทธิจีเอสพีแก่ทุกประเทศประมาณ 3,500 รายการ และมีการกำหนดเงื่อนไขการตัดสิทธิ คือ ระดับการพัฒนามีรายได้ประชาชาติต่อหัวไม่เกิน 12,375 เหรียญสหรัฐ, การเปิดตลาดสินค้าและบริการ, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, การคุ้มครองสิทธิแรงงาน, การกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจนและลดข้อจำกัดทางการค้า และการสนับสนุนสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งนี้ ในจำนวนที่สหรัฐให้จีเอสพีนั้น ส่วนของไทยมีการใช้สิทธิประมาณ 1,100 รายการ ก่อนหน้านี้ถูกตัดสิทธิไปแล้ว 315 รายการ จากกรณีสหรัฐฯ กล่าวหาไทยไม่คุ้มครองแรงงาน และ 147 รายการ กรณีไม่เปิดตลาดสินค้าและบริการ รวม 462 รายการ คงเหลือ 638 รายการ ที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ