สุพัฒนพงษ์ คาด 2 ปี ปัญหาสำรองจบ เล็งใช้วงเงินหมื่นล้านปลดโรงไฟฟ้าเก่า

สุพัฒนพงษ์ คาด 2 ปี ปัญหาสำรองจบ เล็งใช้วงเงินหมื่นล้านปลดโรงไฟฟ้าเก่า

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่ม ปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) กังวลถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าขณะนี้ที่สูงถึง 50% และเสนอการแก้ไข อาทิ ให้ยุติโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) ว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงจะเกิดขึ้นเพียงเชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวและทำให้การใช้ไฟฟ้าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้

“ไม่อยากให้กังวลจนเกินไปเพราะสำรองที่สูงเป็นเรื่องปัจจุบันและชั่วคราวเท่านั้น ส่วนข้อเสนอในการแก้ไข โดยเฉพาะให้เจรจาเอกชนชะลอโครงการที่กำลังก่อสร้าง อาทิ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกองที่เพิ่งเซ็นสัญญาไป ผมไม่อยากให้จับประเด็นนี้เพราะกว่าที่โรงไฟฟ้าจะเสร็จก็อีกหลายปี ถึงตอนนั้นทุกอย่างก็กลับมาเป็นปกติเราก็ต้องมาแก้ไขในเรื่องเดิมอีก” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ข้อกังวลจากสำรองไฟที่เพิ่มสูงจะมีผลต่อค่าไฟฟ้าที่จะสะท้อนไปยังผู้บริโภคนั้น เรื่องนี้เห็นว่าการแก้ไขระยะสั้น กระทรวงพลังงานมีนโยบายชัดเจนในการลดปริมาณไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่เดิมกำหนดเฟสแรก 700 เมกะวัตต์ภายในปี 2563-64 เหลือแค่ 100-150 เมกะวัตต์เท่านั้น พร้อมกันนี้ยังมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พิจารณาโรงไฟฟ้าที่ไม่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพราะเก่ามีประสิทธิภาพต่ำและจะหมดสัญญาซื้อขายไฟในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าให้ปลดระวางโรงไฟฟ้าให้เร็วขึ้น รวมทั้งโรงไฟฟ้าของเอกชนด้วย ขณะเดียวกันยังมีนโยบายเร่งหาแนวทางการเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างประเทศ ตามแผนไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน

ขณะที่ ระยะยาวจะคำนึงถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ ได้แก่ ระบบขนส่งที่ไทยจะมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นถึง 13 สาย การมาของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เหล่านี้ล้วนส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตที่จะต้องนำมาเป็นองค์ประกอบด้วย

Advertisement

“กรณีที่มองว่า ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากสำรองที่สูงนั้นหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้วไทยเองมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้แพงกว่าแต่อย่างใด ซึ่งปัญหาไฟสำรองสูงเป็นกันทั่วโลกเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

แหล่งข่าวจาก กฟผ. กล่าวว่า โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(ไอพีพี) ที่ปัจจุบันไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพราะเป็นโรงเก่ามีประสิทธิภาพต่ำ และจะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประมาณปี 2564-2568 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าเอกชน 1-2 แห่ง อาทิ โรงไฟฟ้าบางยูนิตของโรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าของ กฟผ. 1-2 แห่ง อาทิ บางยูนิตของโรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้ปัจจุบันได้เฉพาะค่าความพร้อมจ่าย (เอพี) เท่านั้น

“หากเจรจากับภาคเอกชนเพื่อปลดระวางโรงไฟฟ้าเร็วขึ้นจะลดสำรองไฟฟ้าไม่เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณหมื่นล้านบาทในการดำเนินการ” แหล่งข่าว กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image