ส่องผลกระทบ ‘ทรัมป์’ ตัดจีเอสพีไทย
ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ วันที่ 3 พฤศจิกายน (ตามเวลาสหรัฐ) ระหว่างนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ก็มีประกาศประธานาธิบดีสหรัฐ ได้พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) เป็นรายประเทศ โดยได้ตัดสิทธิจีเอสพี (จีเอสพี) สินค้าไทยรวม 231 รายการ เนื่องจากสหรัฐ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าไทยไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล
โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
สินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หีบกล่องทำจากไม้ ตะปูควงสำหรับใช้กับไม้ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น
หลักเกณฑ์สหรัฐให้สิทธิจีเอสพีแก่ทุกประเทศประมาณ 3,500 รายการ ได้การกำหนดเงื่อนไขการตัดสิทธิ คือ ระดับการพัฒนามีรายได้ประชาชาติต่อหัวไม่เกิน 12,375 เหรียญสหรัฐ,การเปิดตลาดสินค้าและบริการ, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, การคุ้มครองสิทธิแรงงาน, การกำหนดนโยบายลงทุนที่ชัดเจนและลดข้อจำกัดทางการค้า และการสนับสนุนสหรัฐ ในการต่อต้านการก่อการร้าย สำหรับการพิจารณาที่จะระงับสิทธิรายประเทศ ยังมีการระงับสิทธิจากรายสินค้า หากมูลค่าการนำเข้าสหรัฐ เกิน 190 ล้านเหรียฐสหรัฐ และส่วนแบ่งการนำเข้าสหรัฐเกิน 50%
สำหรับไทย ถือว่าปี 2563 สหรัฐประกาศระงับสิทธิจีเอสพีให้ไทยแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกระงับ 573 รายการ มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 และครั้งสองอีก 231 รายการ มีผลสิ้นเดือนธันวาคมนี้ เท่ากับระงับ 804 รายการ จากที่ได้สินค้าไทยเข้าเกณฑ์ได้จีเอสพี 1,107 รายการ จากจำนวนกว่า 3,500 รายการ ที่สหรัฐให้กับ 119 ประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด
แง่ผลกระทบที่ได้รับจากกรณีนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดย กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกมาชี้แจงว่า ผลจากการตรวจสอบการตัดสิทธิจีเอสพี ดังกล่าว พบว่า ใน 231 รายการที่สินค้าไทยถูกระงับครั้ง 2 พบว่า สินค้าที่ใช้สิทธิจริงปี 2562 มี 147 รายการ มีมูลค่าการนำเข้าในสหรัฐ ประมาณ 604 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากหลังตัดจีเอสพีสินค้าเหล่านี้จะกลับไปถูกเก็บภาษีในอัตราปกติเฉลี่ย 3-4% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 600 ล้านบาท ไม่ใช่คิดจากมูลค่านำเข้า 604 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท
พร้อมกับยกตัวอย่างการถูกระงับสิทธิครั้งแรก 573 รายการ ก็มีการใช้สิทธิจริง 315 รายการ และแจงอีกว่าเมื่อสำรวจผลส่งออกไปสหรัฐ 20 รายการเด่นๆ พบว่า มูลค่าบางรายการลดลง 10-20% ในช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคมปีนี้ ก็ยังไม่ชัดว่าเกิดเพราะถูกระงับจีเอสพีทั้งหมด หรือ ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันก็โชว์ตัวเลขสินค้า 20 รายการนั้นที่ส่งไปตลาดอื่น เพิ่มขึ้น และเตรียมพร้อมช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่อไป
หันถามภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าไทย ต่างยืนยันว่าได้มีการทำใจมาแล้ว และเห็นว่าเป็นประเด็นที่สหรัฐต้องการให้ไทยเปิดนำเข้าเนื้อหมูแดงและชิ้นส่วนหมู ซึ่งอุตสาหกรรมหมูไทยมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท คัดค้าน เกรงเรื่องดัมพ์ราคาและผิดกฎหมายไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งหมูสหรัฐใช้สารดังกล่าว
ทั้งนี้ เอกชนเองก็แสดงความกังวลต่ออนาคตโครงการให้สิทธิจีเอสพีสหรัฐ ที่โครงการต่ออายุมาแล้ว 10 ครั้งในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จะเป็นอย่างไร จะยังให้เหมือนเดิม หรือ ปรับเพิ่ม/ลด รายการสินค้าอย่างไร เพราะวงเงินสินค้าสหรัฐนำเข้า 3,500 รายการ สูงถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ!!! แม้ไทยจะใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ประมาณ 1,107 รายการ ก็เป็นวงเงินถึง 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นักวิชาการ อย่าง อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงทิศทางเรื่องนี้ว่า ประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐ ครั้งนี้ เป็นได้สูงว่าต้องการหาเสียงเลือกตั้งโค้งสุดท้าย และทรัมป์ย้ำให้เห็นถึงนโยบายต้องการลดดุลการค้ากับนานาประเทศ ส่วนจะทบทวนอีกครั้งได้ไหม ก็ต้องดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะเป็นใคร โจ ไบเดน กับ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่อย่างไรก็ตาม การลดดุลการค้าของสหรัฐต่อนานาประเทศ และการเอาใจใส่อุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐ ยังเป็นประเด็นที่ประธานาธิบดีสหรัฐยังนำมาใช้
“หากทรัมป์มา อาจหยิบเรื่องให้ไทยเปิดนำเข้าสุกรขึ้นมาอีกครั้ง และโอกาสถูกตัดจีเอสพีก็เกิดได้อีก ในปีหน้า หากเป็นไบเดน ก็ประนีประนอมมากกว่า แต่ก็จะกังวลเรื่องการหยิบเรื่องสิ่งแวดล้อมและนโยบายสหรัฐมาก่อน เป็นข้ออ้างในการทบทวนจีเอสพีได้ หรือมาตรการอื่นๆ ด้วย เพราะสหรัฐเองเสียหายจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ต้องใช้งบประมาณสูง การหางบประมาณจึงเป็นประเด็นจากนี้ และอ้างเรื่องไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีศักยภาพเพียงพอ ก็เห็นด้วยที่ไทยจะยกระดับสินค้า และมาตรฐาน แข่งกันด้านราคา” อัทธ์กล่าว
จากทุกน้ำเสียงทั้งรัฐ เอกชน และนักวิชาการ สะท้อนว่าโอกาสการค้าโลกและไปสหรัฐ ไม่อาจพึ่งพาวิถีแบบเดิมๆ แล้ว ได้เริ่มเห็นการหยิบเรื่องการเจรจาเปิดเสรีผ่านกรอบซีพีทีพีพี ที่มีสหรัฐในกรอบนั้นด้วย
อีกประเด็นการค้าที่ต้องติดตามต่อไป