บอร์ดบีโอไอออกแพคเกจกระตุ้นอีวีทุกประเภท จยย.-ตุ๊กตุ๊ก-รถบรรทุก-เรือได้หมด

บอร์ดบีโอไอออกแพคเกจกระตุ้นอีวีทุกประเภท จยย.-ตุ๊กตุ๊ก-รถบรรทุก-เรือได้หมด

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นัดแรกภายหลังปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า บอร์ดบีโอไอยังเปิดส่งเสริมรอบใหม่อีก 2 ประเภทกิจการ คือ กิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) หลังหมดระยะเวลาการยื่นคำขอรับการส่งเสริมไปตั้งแต่ปี 2561 โดยรอบนี้ เปิดให้การส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จากเดิมเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้า โดยไม่กำหนดปีสิ้นสุด

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (บีอีวี) แต่ให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้ กรณีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท บีอีวีจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาได้รับสิทธิเพิ่ม กรณีลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อาทิ เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 ผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี และลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด(พีเอชอีวี)ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี แต่ต้องผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ กิจการผลิตสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ แต่ละประเภทจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คณะกรรมการยังให้ความเห็นชอบการปรับปรุงประเภทกิจการต่อเรือหรือซ่อมเรือ ให้ครอบคลุมถึงการผลิตเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าด้วย โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
ทั้งนี้ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ทุกประเภท ผู้ลงทุนจะต้องเสนอแผนงานรวม อาทิ โครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ โครงการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า แผนการนำเข้าเครื่องจักรและติดตั้ง แผนการผลิตในระยะ 1 – 3 ปี แผนการผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนอื่นๆ และแผนการพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศไทย (ที่มีคนไทยถือหุ้นข้างมาก)

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า ได้ปรับปรุงขอบข่ายและสิทธิประโยชน์ของประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยเพิ่มเติมรายการชิ้นส่วนสำคัญอีก 4 รายการ ได้แก่ 1) High Voltage Harness 2) Reduction Gear 3) Battery Cooling System และ 4) Regenerative Braking System พร้อมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากขึ้นสำหรับกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีการลงทุนในขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยให้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ไม่มีการผลิตในประเทศ ในอัตรา 90% ระยะเวลา 2 ปี ในกรณีที่มีขั้นตอนการผลิต Module หรือ Cell เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image