คณะกรรมการ ม.36 เคาะ 9 พ.ย. รับซองเอกชนประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม ตามเดิม

คณะกรรมการ ม.36 เคาะ 9 พ.ย. รับซองเอกชนประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม ตามเดิม

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ที่ประชุมได้หารือกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการประกาศใช้เอกสารหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน (อาร์เอฟพี) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเกณฑ์ใหม่ที่กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกชนจากคะแนนเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน โดยกรณีนี้ฝ่ายกฎหมาย รฟม. พิจารณาแล้วพบว่าเป็นคำสั่งที่ทุเลาการใช้เกณฑ์ใหม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ที่ รฟม. ตามเดิม

แหล่งข่าวจาก รฟม. กล่าวว่า พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการรับข้อเสนอฯ ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรจากฝ่ายต่างๆ ประมาณ 5 คน ได้แก่ ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง, ฝ่ายพัฒนาโครงการ, ฝ่ายบัญชี และฝ่ายการเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ตามหลังจากที่ รฟม. เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 9 พฤศจิกายน จากนั้นทางคณะกรรมการ ม.36 จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะเปิดซองข้อเสนอซองต่างๆ หรือไม่ โดยจะขอรอฟังผลการอุทธรณ์ที่ รฟม. ได้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดด้วย ซึ่ง รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลาง ไปแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยฝ่ายกฎหมาย รฟม. มองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ศาลปกครองกลาง อาจจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน น่าจะใกล้เคียงกับการพิจารณากรณีที่เอกชนยื่นอุทธรณ์เมื่อครั้งที่ผ่านมา โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

สำหรับการประชุมคณะกรรมการ ม.36 ครั้งนี้ ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือว่าจะต้องล้มประมูลโครงการฯ หรือไม่ เวลานี้ขอพิจารณาทีละขั้นตอนไปก่อน และขอรอฟังผลการอุทธรณ์จากศาลฯ ด้วย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการเปิดรับข้อเสนอจากเอกชนในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ จะไม่มีผลกระทบใดๆ กับเอกชนไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะใช้เกณฑ์เก่า หรือเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณาตัดสินผู้ชนะประมูล เพราะในการยื่นข้อเสนอนั้นเป็นข้อมูลคุณสมบัติพื้นฐานที่เหมือนเดิมทุกอย่าง และเชื่อว่าเอกชนต้องนำเสนอข้อเสนอที่ดีที่สุดมาให้พิจารณาอยู่แล้ว ดังนั้นเอกชนจึงไม่มีอะไรที่น่ากังวล

แหล่งข่าวจาก รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รฟม. ได้เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถตลอดเส้นทาง 35.9 กิโลเมตร (กม.) ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ทั้งนี้ตามแผนมีกำหนดเปิดให้บริการ 2 ส่วน โดยส่วนตะวันออกภายในเดือนมีนาคม 2567 และส่วนตะวันตก เดือนกันยายน 2569

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image