ก.พลังงานนัดถกยานยนต์ไฟฟ้า ปรับแผนชงสศช.-ลุยพีดีพี2022

ก.พลังงานนัดถกยานยนต์ไฟฟ้า ปรับแผนชงสศช.-ลุยพีดีพี2022

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 6 พย.ว่า สัปดาห์หน้ากระทรวงพลังงานจะหารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อหารือถึงรายละเอียดการจัดทำแผนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจุบันครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถบรรทุก รถโดยสาร รถจักรยานยนต์ รถตุ๊กตุ๊ก เรือ เพื่อวางแผนการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จรถไฟฟ้า คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต ปัจจุบันปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยค่อนข้างสูงอยู่ระดับ 40% และเป็นระดับชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลง
“ต้องพิจารณาข้อมูล ความต้องการใช้ไฟฟ้าทุกด้าน เพื่อพิจารณาสำรองไฟฟ้าที่้เหมาะสมควรเป็นระดับใด และเตรียมการสำหรับการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ปี 2022 ที่จะดำเนินการเก็บข้อมูลเพื่อพยากรณ์ในช่วง 6 เดือนจากนี้” นายกุลิศกล่าว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การใช้พลังงานในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บวกกับแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสมัยใหม่ กระทรวงพลังงานจึงเตรียมจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ปี 2022 จากปัจจุบันใช้พีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์จริง โดยในช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะเริ่มกระบวนการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ ประสานข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และได้ว่าจ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดทำโมเดลพยากรณ์

“นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติตามข้อแนะนำของ สศช. โดยจะรวม 5 แผนพลังงาน ได้แก่ แผนพีดีพี (พีดีพี) แผนประหยัดพลังงาน (อีอีพี) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) แผนน้ำมัน (ออยล์แพลน) แผนแก๊ส (แก๊สแพลน) ภายใน 6 เดือนจากนี้เช่นกัน โดยเป็นแผนระยะสั้น 5 ปี และระยะยาว 10 ปี เพื่อให้สามารถปรับแผนได้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป” นายวัฒนพงษ์กล่าว

นายวัฒนพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเดินหน้าตามแผนพีดีพี 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 โดยเตรียมประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องปริมาณไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ รูปแบบประมูลแข่งขันด้านราคาที่คำนึงสายส่งรองรับ ศักยภาพพื้นที่ ประโยชน์เกษตรกร ขนาด 3-6 เมกะวัตต์ต่อโรง จากกรอบการรับซื้อทั้งหมด 1,933 เมกะวัตต์ในปี 2563-2567 มีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบภายในปี 2566 หากโครงการนำร่องไม่ประสบผลสำเร็จอาจจะพิจารณายกเลิกโครงการในส่วนที่เหลือทั้งหมด

Advertisement

นายวัฒนพงษ์กล่าวว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเร่งด่วน (ควิก วิน) 100 เมกะวัตต์ ที่เดิมจะให้โควต้ากับโรงไฟฟ้าสร้างเสร็จแล้วแต่มีปัญหาขายไฟไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาสายส่งในอดีต จะเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าขยายผล คาดว่าจะเปิดรับซื้อด้วยวิธีแข่งขันด้านราคาต้นปี 2564 กำหนดราคารับซื้อเบื้องต้นไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย เพื่อไม่ทำให้เกิดภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image