คิดเห็นแชร์ : ‘Next Normal’ความปกติถัดไป ที่อุตสาหกรรมไทย ต้องไปให้ถูกทาง

คิดเห็นแชร์ : ‘Next Normal’ความปกติถัดไป ที่อุตสาหกรรมไทย ต้องไปให้ถูกทาง

คิดเห็นแชร์ : ‘Next Normal’ความปกติถัดไป ที่อุตสาหกรรมไทย ต้องไปให้ถูกทาง

สวัสดีแฟนๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ ในช่วงเวลานี้หลายท่านคงคุ้นชินกับคำว่า “วิถีปกติใหม่” หรือ New Normal กันแล้ว เพราะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 47 ล้านคน และยังก่อให้เกิดวิถีปกติใหม่ของมนุษย์อยู่ 2 ด้าน

คือ 1.ด้านการยกระดับชีวอนามัยและความปลอดภัยของบุคคล เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การรักษาความสะอาด การเว้นระยะห่าง การหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่แออัด เป็นต้น 2.ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินชีวิตมากขึ้น เช่น การทำงานที่บ้าน การประชุมและสื่อสารออนไลน์ การเรียนออนไลน์ การซื้อของออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในวิถีความปกติใหม่ทั้ง 2 ด้านนี้ ย่อมสามารถตอบโจทย์ได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ได้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของโรคโควิด-19 นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอีกด้วย เนื่องจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำเป็นต้องใช้มาตรการปิดประเทศ ทำให้การเคลื่อนย้ายของประชากรโลกหยุดชะงัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวการส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เหล่านี้เป็นเม็ดเงินหลักที่สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในประเทศ คนไทยมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด

แต่ด้วยวิกฤตของโรคโควิด-19 จึงมีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงไปกว่าร้อยละ 70 ส่งผลให้เม็ดเงินที่ได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงตามไปด้วย และทำให้ไม่มีเงินบาทแรกหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทย ภาคธุรกิจจึงประสบปัญหาจากการขาดรายได้ขาดสภาพคล่อง ทำให้หลายธุรกิจต้องรัดเข็มขัดด้วยการลดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และอาจต้องลดการผลิตหรือลดจ้างงานในที่สุด

สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ระมัดระวังในการใช้เงินหรือใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่จำเป็นที่มีราคาสูงหรือฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น มียอดขายลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ส่งผลให้เกิดกำลังการผลิตส่วนเกิน (Overcapacity) ในภาคการผลิต การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจึงลดลงตามไปด้วย

สอดคล้องกับการคาดการณ์จากธนาคารโลกที่ประเมินจีดีพีของประเทศไทยอาจติดลบร้อยละ 8.3 ใกล้เคียงกับสหภาพยุโรปที่ติดลบร้อยละ 7.9

แล้วทางรอดของอุตสาหกรรมไทยหลังสถานการณ์โรคโควิด-19 จะไปในทิศทางใด “ความปกติถัดไป” หรือ Next Normal คือ สิ่งที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องมองไปข้างหน้า เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง

ผมอยากใช้โอกาสนี้ แชร์ให้ทุกท่านทราบถึง Next Normal ของทิศทางธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยที่ควรต้องปรับตัวใน 3 แนวทาง ดังนี้

1.เทคโนโลยีดิจิทัลจะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญและจะเข้ามามีบทบาทในทุกมิติ ธุรกิจและอุตสาหกรรมจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและให้บริการลูกค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการประกอบการ

2.การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (De-globalization) ของประเทศมหาอำนาจ ส่งผลให้ไทยต้องหันมาพึ่งพาตนเอง เนื่องจากเม็ดเงินที่เป็นรายได้หลักจากการพึ่งพาต่างประเทศ เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีจำนวนลดลง การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ โดยการพึ่งพาเศรษฐกิจในไทย ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องใช้อุตสาหกรรมสร้างประเทศ ผ่านการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตที่เกิดจากลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) เช่น อุตสาหกรรมระบบราง อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการจ้างงานและมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

3.การเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ หลังวิกฤตโรคโควิด-19 ส่งผลให้บางอุตสาหกรรมที่เคยมองว่าอุตสาหกรรมศักยภาพแห่งอนาคต (S-Curve) เช่น อุตสาหกรรมการบิน อาจไม่ใช่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในทศวรรษนี้อีกแล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายของประชากรโลกลดลง ซึ่งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ประเมินการสัญจรทางอากาศทั่วโลก จะไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ก่อนปี 2567

อย่างไรก็ตาม ยังมีหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีภาพจำว่าเป็นอุตสาหกรรมในอดีตไปแล้ว แต่กำลังจะกลับมาเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอนาคตได้ นั่นคือ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนในการยกระดับการทำเกษตรแบบเดิมให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เนื่องจากอาหารและสินค้าเกษตรแปรรูป เป็นสิ่งจำเป็นในการอุปโภคบริโภค และยังเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศอีกด้วย

ถึงแม้ว่าวันนี้เรายังอยู่ในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 ยังไม่หมดไป แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยยังต้องก้าวต่อไปในยุค Next Normal ซึ่งเศรษฐกิจในไทยไม่สามารถเกิดจากการขับเคลื่อนของภาคเอกชนได้แต่เพียงลำพัง จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องลงไปช่วยกันขับเคลื่อน

เพราะเราคือ “ทีมประเทศไทย” ทีมที่จะช่วยกันสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยให้เดินต่อไปอย่างถูกทางและยั่งยืนครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image