‘ตลท’ เผยการเมืองร้อนแรงกดดันหุ้นไทย ต.ค. 63 ร่วงแรงหลุด 1,200 จุด ลบกว่า 24.4%

‘ตลท’ เผยการเมืองร้อนแรงกดดันหุ้นไทย ต.ค. 63 ร่วงแรงหลุด 1,200 จุด ลบกว่า 24.4%

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยประจำเดือนตุลาคม 2563 ดัชนี ปิดที่ 1,194.95 จุด ลดลง 3.4% จากเดือนกันยายน ที่ผ่านมา และปรับลดลงกว่า 24.4% หากเทียบกับสิ้นปี 2562 โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวดีกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นมากในสหรฐัฯ และกังวลว่าจะเกิดการล็อกดาวน์รอบ 2 ในยุโรป แต่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลง ตรงข้ามกับดัชนีของตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ที่กดดันการปรับขึ้น แต่การที่ดัชนีหุ้นปรับลดลงมา ทำให้อัตราส่วนราคาต่อกำไร (พีอีเรโท) ปรับลดลงมาใกล้เคียงกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค มีอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมในตลท.และเอ็มเอไอ (mai) ในเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 53,269 ล้านบาท ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2563 เฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 63,417 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 นอกจากนี้ตลาดเอ็มเอไอ ทำสถิติสูงสุดในปี 2563 ที่ 327.12 จุด ในวันที่ 7 ตุลาคม ก่อนปิดที่ 309.56 จุด ณ สิ้นเดือนตุลาคม

นายศรพล กล่าวว่า ในเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยผู้ลงทุนต่างชาติยังมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากนับช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยกว่า 2.98 แสนล้านบาท ขณะที่ผู้ลงทุนกลุ่มอื่นเป็นผู้ซื้อสุทธิ เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี 2562 พบว่าหลายอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่าภาพรวมตลาด โดยเฉพาะในหมวดธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับการส่งออกไปยังต่างประเทศ อาทิ หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดธุรกิจการเกษตร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนของ

“ทิศทางเงินทุนไหลเข้า (ฟันด์โฟลว์) ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิดว่า ใกล้ถึงจุดที่มีความเสถียรแล้วหรือไม่ จากที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยออกไปแล้วกว่า 3.5 แสนล้านบาท และเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้หรือไม่ โดยมองว่าต้องติดตามดูเรื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และวัคซีนโควิด-19 จะออกมาได้จริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยให้นักลงทุนตัดสินใจ รวมถึงยังมีปัจจัยเรื่องการเมืองด้วย แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะสามารถกลับมาเริ่มต้นได้อย่างก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วได้ หากโควิด-19 จบลง” นายศรพล กล่าว

Advertisement

นายศรพล กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หลังพ�บว่ามีความชัดเจนแล้วคือ นายโจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับการมาของนายไบเดน รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นไปกว่า 5% แล้ว เนื่องจากนโยบายของนายไบเดน ค่อนข้างเปิดกว้างมากกว่า ทำให้คาดหวังว่าท่าทีเกี่ยวกับสงคราการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน จะอ่อนโยนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าขายของโลก โดยในระยะถัดไป ปัจจัยผู้นำสหรัฐคนใหม่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาต่อ ในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐที่ถือว่ามีขนาดใหญ่ นโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทน ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับหุ้นกลุ่มพลังงานบ้านเรา และการให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งอาจเห็นการออกมาตรการที่คล้ายกับโอบามาแคร์ โดยมาตรการเหล่านี้ คาดว่าน่าจะช่วยให้ตลาดทั่วโลกและหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น สวนทางกับความเสี่ยงที่จะมีน้อยลง

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวคิดที่จะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการให้สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับหุ้นไอพีโอกลุ่มธุรกิจใหม่ คล้ายกับแนวคิดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อผลักดันและก่อให้เกิดแรงจูงใจสำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่ ตั้งแต่ยังไม่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงยังมีแนวคิดที่จะออกดัชนีต่างๆ เพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงดัชนีกลุ่มเวลบีอิ้ง เซทเอชดี หรือเซทซีแอลเอ็มวี เพื่อสร้างจุดขายและเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนสามารถเข้าลงทุนได้หลายหลายมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image