นำร่องอุตฯ ‘บีซีจี’ ปูทางรับ ‘ไบเดน’

หลังจากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ คือ “บีซีจี อีโคโนมี” เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก และนำพาประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

คำว่า บีซีจี อีโคโนมี เป็นการรวมเศรษฐกิจหลัก 3 ด้านไว้ด้วยกัน คือ 1.ไบโอ อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิม นั่นก็คือ ทรัพยากรชีวภาพ หรือผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า อาทิ การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีธาตุอาหารสูง

2.เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด ที่สำคัญคือการมุ่งไปที่การลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ ด้วยการปรับกระบวนการผลิต อาทิ การเปลี่ยนของเสียจากการผลิต

และ 3.กรีน อีโคโนมี หรือเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้เอนไซม์จากจุลินทรีย์เพื่อการฟอกกระดาษ การใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมี

Advertisement

นอกจากนี้ บีซีจี อีโคโนมี ยังครอบคลุมเศรษฐกิจอีก 3 ด้านที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจอัจฉริยะ เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยวางแผนและจัดการระบบต่างๆ เศรษฐกิจร่วมใช้ประโยชน์ เป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่เราสามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการของตัวเองและมีความยืดหยุ่นกว่าเดิม เช่น การหาที่พักในแอพพลิเคชั่น และเศรษฐกิจผู้สูงวัย เป็นการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ทั้งหมดนี้จะครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 อุตสาหกรรมของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

Advertisement

ช่วงกลางปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เดินหน้าเรื่องนี้อย่างเข้มข้นขึ้น ผ่านการจัดเวทีสมัชชาบีซีจี โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คาดหวังให้โมเดลนี้เป็นทางรอดในยุคหลังโควิด-19 พร้อมผลักดันมูลค่าเศรษฐกิจไทย 4.4 ล้านล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า สร้างการจ้างงาน 16.5 ล้านคน แก้ปัญหาความยากจนของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเอกชนและสถาบันการเงิน 18 หน่วยงาน เพื่อสนับสนุนการลงทุนในระยะแรก 1 หมื่นล้านบาท เกิดมูลค่าเศรษฐกิจตามไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้านบาท และมีผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน

ขาหนึ่งในการขับเคลื่อนบีซีจี อีโคโนมี คือการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม ล่าสุด “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศข่าวดี ภาครัฐและเอกชนได้ขับเคลื่อนเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น ถือเป็น ไบโอ-เซอร์คูลาห์ กรีน คอมเพล็กซ์แห่งแรกของเอเชีย เป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมลำดับที่ 26 ของประเทศ ตั้งอยู่ใน จ.ชลบุรี ภายในประกอบด้วยโรงงาน เกษตรแปรรูปปาล์มน้ำมัน ยางพารา และพลังงานทดแทน พร้อมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ โรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากทะลายปาล์ม

ไทยเป็นผู้นำด้านผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์นจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพและเป็นตัวอย่างที่ดีของการต่อยอดอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

โครงการนี้ถือเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมายสาขาเกษตรชีวภาพขนาดใหญ่ลำดับแรกของประเทศ มีการลงทุนใหม่กว่า 20,000 ล้านบาท เกิดจ้างแรงงานในพื้นที่กว่า 8,000 อัตรา ภายใน 3 ปี และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบเขตประกอบการอุตสาหกรรมกว่า 2.5 ล้านไร่

ข้อมูลจาก บริษัท ไทยอีสเทิร์น อินดัสเตรียล แลนด์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น พบว่าเขตประกอบการนี้ตั้งอยู่บนถนนสาย 344 ต.เขาซก อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี บนเส้นทางยุทธศาสตร์การเกษตรของภาคตะวันออก มีพื้นที่โครงการกว่า 725 ไร่ แบ่งโซนออกเป็น พื้นที่อุตสาหกรรมกว่า 510 ไร่ และพื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียวกว่า 215 ไร่ สอดคล้องตามแนวทางการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

โครงการรองรับพืชเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พืชพลังงาน อาหาร ผลไม้ พืชสมุนไพร และวัตถุดิบอื่นๆ ทางชีวภาพ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรทั้งระบบทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางของการสร้างบุคลากรเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพขั้นปลายในอนาคต และเป็นศูนย์กลาง

บูรณาการด้านเกษตรชีวการแพทย์ระดับไบโอ เมดิคัล ฮับ คือ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ยา เครื่องสำอาง อาหารจากเกษตรชีวภาพ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงอยู่ระดับบนของห่วงโซ่การผลิตในอนาคต


ล่าสุดในเวทีการค้าโลก เทรนด์บีซีจี อีโคโนมี กำลังถูกจับตาอย่างมาก หลัง “โจ ไบเดน” คว้าชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งว่าที่ผู้นำสหรัฐรายนี้ประกาศสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ประเด็นนี้ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐค่อนข้างชัดว่าประธานาธิบดีคนต่อไปน่าจะเป็น นายโจ ไบเดน ที่ประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน โดยเฉพาะเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นสิ่งที่จะกระทบกับประเทศไทย คือสินค้าไทยที่จะส่งไปขายสหรัฐ อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ยานยนต์ เป็นระบบสันดาปภายในอาจได้รับผลกระทบในระยะยาว เพราะนายไบเดนจะเน้นอีวี นอกจากนี้สินค้าที่ส่งจากไทยหรือทั่วโลกอาจถูกตรวจเข้มงวดเรื่องการใช้แรงงานเด็ก เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของไอยูยู หรือการทำประมงที่ผิดกฎหมายและไร้ระเบียบ

“ส่วนสินค้าที่ได้รับผลบวกคือสินค้ากลุ่มบีซีจี (ไบโออีโคโนมี เซอร์คูลาร์อีโคโนมี และกรีนอีโคโนมี) ของไทยจะได้ผลดี อาทิ สินค้ากลุ่มสุขภาพ หน้ากากอนามัย สินค้ากลุ่มอาหารออร์แกนิค ปลอดสารเคมี น่าจะเติบโตขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและใช้โอกาสนี้พัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้การค้ายังดำเนินไปได้และไม่ถูกกีดกันในภายภาคหน้า” รองประธาน ส.อ.ท.แสดงความเห็น

บีซีจี อีโคโนมี ในบริบทของไทยจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตาม!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image