วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย จากวิกฤต ‘โควิด-19’

โควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อค่ำวันที่ 11 พฤศจิกายน ในงานดินเนอร์ ทอล์ค Sharing Our Common Future จัดโดย ไทยรัฐกรุ๊ป โดยมีปาฐกถาพิเศษ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564 โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และการเสวนา เรื่องเศรษฐกิจหลังโควิด-19 : จุดยืนของไทยในเวทีโลก โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องที่ใหม่รับมือได้ยาก เพราะไม่เคยมีใครเผชิญกับปัญหาโควิด-19 แต่ประเทศไทยเราถือว่ารับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้ดี จนสามารถคลายมาตรการการควบคุมโควิด-19

แต่ปัจจุบันการเปิดประเทศยังมีข้อจำกัด ยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ จึงต้องกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ อาทิ การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาท โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้มีมาตรการการพักชำระหนี้สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ในปี 2564 ยังคงต้องพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ โดยปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่ดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีต่างๆ เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยประชาชนอาจรับรู้ได้ชัดเจนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 รวมทั้งรัฐบาลได้มีแผนปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ออกมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวพักระยะยาวที่ได้วีซ่าพิเศษเอสทีวี การลดมาตรการลดวันกักตัวสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย และเตรียมพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งปี 2564 จะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนการลงทุนจริงน่าจะเกิดขึ้นในปี 2565

Advertisement

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก จึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจนกว่าจะเกิดการเปิดประเทศ เช่น โครงการเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน ส่วนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ช่วยให้มีการใช้จ่ายซึ่งมีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) 50 % รวมทั้งพยายามรักษาการจ้างงานไว้ เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถหาเลี้ยงชีพได้ ส่วนการที่ทำมาตรการต่างๆนั้นต้องใช้เงินงบประมาณนั้น มีเพียงพอ มีงบประมาณเฉพาะสำหรับการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคประชาชนโดยเฉพาะอยู่แล้ว รวมทั้งเงินทุนสำรองยังคงมีเพียงพอเช่นกัน

รวมทั้งมีแผนการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และให้เอื้อต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ในขณะนี้สภาวะการเงินที่ผ่อนคลายลงทำให้เอื้อต่อการลงทุนธุรกิจ รวมทั้งจากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น รถอีวี จึงเห็นว่าเป็นช่วงที่ควรลงทุน

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดของปัญหา ซึ่งวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบกับเศรษฐกิจส่วนสำคัญของประเทศ คือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่มีธุรกิจที่หลายหลากเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน จึงทำให้วิกฤตดูประสบปัญหารุนแรง รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ประสบปัญหาอยู่แล้ว การแก้ไขปัญหาจึงต้องถูกต้อง ไม่ให้กระทบกับส่วนอื่น ได้แก่การไม่ขยายการพักชำระหนี้แบบโดยรวมทั้งหมด แต่พิจารณาลูกหนี้เป็นรายๆไป เพื่อให้ผู้ที่สามารถชำระหนี้ได้ กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติเพื่อลดภาระผู้ประกอบเองและธนาคารพาณิชย์

Advertisement

รวมทั้งสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยลงในกลุ่มภาคธุรกิจใหม่ๆ เช่นลงทุนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ หรือการลงทุนที่พักดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ศูนย์การแพทย์ครบวงจร ที่พักผ่อนสำหรับผู้สูงอายุชาวต่างชาติ และเมื่อมีลงทุน อาจทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม รายได้ประชาชนเพิ่ม ซึ่งทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะ และปัญหาความยากจนลดลงได้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสังเกตการณ์จากดัชนีชี้วัดต่างๆ ประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ปี 2563 มาแล้ว และขณะนี้กำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ วิกฤติครั้งนี้มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งทำให้การเปิดประเทศทำได้อย่างไม่เต็มที่ปีหน้าต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ

ในเรื่องการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ระดับการลงทุนมีระดับที่ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งในวิกฤติขณะนี้ภาคเอกชนช่วยได้ คือ การลงทุนความสามารถทักษะแรงงาน การลงทุนปรับเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล หรือ การลงทุนศูนย์การแพทย์ครบวงจร ที่พักผ่อนสำหรับผู้สูงอายุชาวต่างชาติ โดยปีหน้ายังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศแต่ถ้าหากภาคเอกชนสามารถโฆษณาหรือดึงดูดให้นักลงทุนที่มีเครือข่ายมาลงทุนในไทย โดยใช้จุดแข็งที่ว่าประเทศไทยควบคุมการระบาดได้ดี แม้ว่าจะไม่เกิดการลงทุนทันที แต่จะสร้างบรรยากาศความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้ และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image