คาร์ทิป : อย่าล้อเล่นกับ‘เบรก’!

คาร์ทิป : อย่าล้อเล่นกับ‘เบรก’!

คาร์ทิป : อย่าล้อเล่นกับ‘เบรก’!

1.เบรกดัง หากเหยียบเบรกรถแล้วมีเสียงดังอี๊ดๆ แสดงว่าเบรกมีปัญหาแล้ว ลองสังเกตว่า เสียงดังมาจากตรงไหน ดังทุกล้อ ล้อเดียว คู่หน้า คู่หลัง ถ้าหากพบดังเป็นคู่ คือ ผ้าเบรกหรือจานเบรกหมด หากดังเป็นจุดๆเดียว ผ้าเบรกอาจมีเศษหินหรือสิ่งสกปรกเข้าไปติด นำรถเข้าตรวจซ่อม และทำความสะอาดผ้าเบรกหรือเปลี่ยนผ้าเบรกที่ได้มาตรฐาน

2.เบรกสั่น หากเหยียบเบรกแล้วรู้สึกว่าแป้นเบรกมีอาการสั่นๆ หรือหนักกว่านั้นคือสั่นไปถึงพวงมาลัย และอาจสั่นไปทางคันเลยก็ได้ แสดงว่าจานเบรกมีปัญหา อาจบิดตัวจากการใช้งานหนัก เช่น เหยียบเบรกอย่างรุนแรง,จานเบรกมีความร้อนสูงแล้วลุยน้ำทันที เป็นต้น ควรนำรถไปตรวจเช็กจานเบรก หากมีปัญหาใช้วิธีการเจีย

3.เบรกทื่อ หากเหยียบเบรกแล้วรู้สึกว่ามันแข็ง ต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ แสดงว่าหม้อลมเบรกในรถมีอาการรั่วซึมจากชุดผ้าใบภายในหรือวาล์ว เสีย ทำให้แรงสุญญากาศของหม้อลมน้อย สำหรับรถเครื่องยนต์ดีเซล อาจเป็นที่ปั๊มสุญญากาศบริเวณตูดไดชาร์จเสียรวมทั้งสายลมรั่ว เป็นต้น ควรแก้ไขด่วน เพราะเป็นที่มาของการเบรกไม่อยู่

Advertisement

4.เบรกจม หากเหยียบเบรกแล้วรู้สึกว่าลึกกว่าปกติ หากเหยียบค้างไว้จะค่อยๆ จมลงๆ ต้องเบรกซ้ำถึงจะอยู่ แสดงว่าลูกยางแม่ปั๊มเบรกตัวบนสึกหรอหรือบวม ทำให้แรงดันเบรกลดลง ควรรีบซ่อม เพราะจะกลายเป็นเบรกแตก

5.เบรกแตก หากเหยียบเบรกแล้วไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ขึ้นเลย แป้นเบรกลงไปติดพื้นอย่างง่ายดาย รถก็ไม่จอด แสดงว่าเบรกแตก มีสาเหตุมากมาย เช่น การรั่วของน้ำมันเบรก,ท่อทางเดินระบบเบรกแตก,น้ำมันเบรกรั่วซึมมานาน,ลูกยางแม่ปั๊มเบรกชำรุด,ตัวแม่ปั๊มเบรกเสียหายจนน้ำมันเบรกรั่วไหลออกหมด, ชิ้นส่วนของระบบเบรกหลุดหลวม หรือเกิดจากสายอ่อนเบรกแตก ต้องหาวิธีหยุดรถให้ได้ก่อน แนะนำให้ใช้การลดเกียร์ไปเรื่อยๆ รวมไปถึงดึงเบรกมือ หากเบรกมือเป็นระบบไฟฟ้าห้ามใช้ นำรถเข้าตรวจเช็ก

6.เบรกติด หากยกเท้าออกจากแป้นเบรกแล้ว แต่รู้สึกว่าเบรกยังคงทำงานอยู่ สังเกตว่าเบรกร้อนมากจนมีกลิ่นไหม้ออกมาหรือไม่ จอดรถแล้วใส่เกียร์ว่างดูว่าเข็นแล้วฝืดไหม หากฝืดแสดงว่า ลูกยางกันฝุ่นของแม่ปั๊มเบรกอาจฉีกขาด ทำให้มีน้ำซึมเข้าไปในกระบอกเบรกจนก่อให้เกิดสนิม ลูกสูบเบรกจึงไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้า-ออกได้ อีกกรณีคือซีลยางบวมผิดรูป ทำให้ลูกสูบที่คาลิปเปอร์เบรกไม่เลื่อนกลับ ส่งผลให้เบรกติด ควรรีบเปลี่ยนชุดซ่อมแม่ปั้มเบรกล่าง ถอดมาขัดสนิมออก แต่ถ้ามีสนิมมากจนเกิดตามด ควรเปลี่ยนลูกสูบเบรก หรือแม่ปั๊มทั้งชุด

Advertisement

7.เบรกปัด หากเหยียบเบรกแล้วรถเกิดเบี้ยวไปด้านใดด้านหนึ่ง อาจเกิดจากคราบน้ำมันหรือสารหล่อลื่นของชุดช่วงล่างกระเด็นมาโดนจานเบรก ทำให้ผิวลื่นมัน ความฝืดลดลง หรือเกิดจากประสิทธิภาพการสึกหรอของชุดคาลิปเปอร์เบรกที่มีแรงกดในแต่ละฝั่งแตกต่างกัน เมื่อความฝืดไม่สมดุลกัน อาการเบรกปัดจึงเกิด กรณีนี้สังเกตว่าเบรกแล้วปัดทางไหน หากปัดซ้า ต้องซ่อมระบบเบรกด้านขวา หากเบรกแล้วปัดขวาต้องซ่อมซ้าย

8.เบรกเฟด หากเหยียบเบรกแล้วมีอาการแป้นเบรกลื่น เบรกไม่อยู่ขณะใช้ความเร็วสูง หรือในเส้นทางขึ้นลงเขา อาจทำให้เราใช้เบรกต่อเนื่องมากเกินไป หรือในช่วงใช้ความเร็วสูงมากๆ พอแตะเบรกครั้งแรกก็ปกติ แต่พอแตะเบรกอีกหลายๆ ครั้ง กลับเกิดอาการลื่น เบรกไม่ตอบสนองอันตรายมาก เกิดจากความร้อนของจานเบรกกับผ้าเบรกสูงเกินไป มาจากการใช้งานหนัก หากเคยมีอาการก็ควรปรับใช้ผ้าเบรกคุณภาพสูงและน้ำมันเบรกที่มีค่า DOT สูงขึ้นกว่าเดิม

ช่างเซียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image