จอดป้ายประชาชื่น : เหลื่อมล้ำถ่างไม่หยุด

จอดป้ายประชาชื่น : เหลื่อมล้ำถ่างไม่หยุด ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีช่องว่าง

จอดป้ายประชาชื่น : เหลื่อมล้ำถ่างไม่หยุด

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยขนาดใหญ่ไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยพิจารณาจากกลุ่มประชากรฐานราก ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ต่ำมากที่สุด และฐานะยากจนในระดับล่างสุด มีกว่า 40% โดยในช่วงปี 2558-2560 ประชากรกลุ่มนี้มีการบริโภคและรายได้ที่ติดลบด้วย

แต่ในเดือนตุลาคม 2563 สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานสถานการณ์ความยากจนในปี 2562 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสัดส่วนคนจนลดลงจาก 9.85% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24% ในปี 2562 หรือมีคนจน จำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ

ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ในหลายมาตรการ ล่าสุดคือ โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืนซึ่งหากพิจารณาจากตัวคนละครึ่งที่ออกมา หอการค้าไทยได้ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้าระบบกว่า 60,000 ล้านบาท สร้างเงินหมุนเวียนเพิ่มกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมองว่าโครงการดังกล่าวเข้าถึงร้านค้ารายย่อย และผู้บริโภคได้ประโยชน์จริง

Advertisement

ในทางกลับกัน มีประชากรไทยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์ที่สามารถลงทะเบียนได้ หรือแม้กระทั่งเงินในการซื้อของกินของใช้ประจำวันก็อาจไม่เพียงพอ ซึ่งส่วนนี้เห็นได้จากรอบตัว ทั้งแรงงานที่มีรายได้วันต่อวัน ผู้พิการที่ขายของตามสะพานลอย คนเก็บของเก่า และเกษตรกรในต่างจังหวัดที่ขณะนี้เป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่ กลุ่มนี้แม้จะมีโครงการอื่นของรัฐรองรับแต่ยังไม่ครอบคลุมพอ

หลังจากเกิดโควิด-19 ก็สร้างผลกระทบสูงในทุกส่วน คนรวยอาจรวยน้อยลง แต่ดูเหมือนผลกระทบจะไม่เท่าคนจนที่ยิ่งจนลง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการของภาครัฐยังไม่สามารถช่วยเหลือประชากรได้ครบทุกกลุ่ม คำว่าคนไทยจนลดลง คงต้องวัดที่ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ดัชนีชี้วัดต่างๆ แทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image