ส.อ.ท.เชียร์รัฐต่อมาตรการคนละครึ่ง โอดบาทแข็งฉุดศก.จี้ธปท.แก้
ที่สำนักงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2563 ว่า ขณะนี้ภาคเอกชน ห่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เคลื่อนไหวระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฯ แข็งค่าขึ้นถึง 8.20 % (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-16พฤศจิกายน) สูงเป็นอันดับ 4 เมื่อเทียบในประเทศภูมิภาค ส่งผลให้ขีดความสามารถการแข่งขันส่งออกของไทยลดลงอย่างมาก เนื่องจากคู่แข่งสำคัญทางการค้าของไทย อาทิ เวียดนาม แข็งค่าเพียง 1.66% สินค้าไทยแพงกว่า จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลสถานการณ์ค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเกินกว่าภูมิภาค ซึ่งภาคเอกชนต้องการเฉลี่ยระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฯ
“ค่าเงินบาทแข็งเราไม่กลัว แต่ควรแข็งพอๆ กับภูมิภาค ไม่ควรแข็งโดดเกินไป อย่างตอนนี้ประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนามแข็งค่าเพียง 1.66% กัมพูชา แข็งค่า 0.49% มาเลเซีย 4.43% ญี่ปุ่น 3.25% ซึ่งตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ค่อยๆปรับตัวดีขึ้น ถ้ายิ่งสถานการณ์ค่าเงินบาทลากยาวออกไปถึงม.ค. 64 จะยิ่งทำให้ภาคส่งออกของไทยยิ่งสะดุด และกระทบถึงภาคเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแน่นอน”
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า จากการติดตามโครงการคนละครึ่งของภาครัฐที่ออกมาถือเป็นโครงการที่ดีมาก รัฐควรขยายโครงการออกไป โดยอยากให้คนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการแล้วยังไม่ได้รับสิทธิ ได้รับสิทธิทั้งหมด เนื่องจากการใช้จ่ายคนละครึ่ง ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในระบบจริงๆ รวมทั้งร้านค้ารายย่อยได้รับเงินอย่างแท้จริง ไม่ใช่แจกเงินสดให้ประชาชนไปครั้งเดียว ทำให้หลายรายไม่นำไปใช้จ่าย นอกจากนี้ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐรักษามาตรฐานการควบคุมโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมทั้งขอให้เร่งรัดการจ่ายเงินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกโครงการภายใน 30 วัน หลังจากตรวจรับเรียบร้อย เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินภาคเอกชน จากปัจจุบันภาคเอกชนมากกว่า 100 บริษัท ได้เริ่มดำเนการจ่ายเงินภายใน 30 วันให้ผู้ประกอบการแล้ว รวมทั้งเร่งผลักดันโครงการลงทุนและโครงการก่อสร้างของภาครัฐทุกโครงการที่ได้วางแผนไว้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 86.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 85.2 ในเดือนกันยายน โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มเห็นผล รวมทั้งโครงการชอปดีมีคืน กระตุ้นกำลังซื้อทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าคงทน ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการฟื้นตัว แต่ยังกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่มีความรุนแรงขึ้นจากหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.9 จากระดับ 93.3 ในเดือนกันยายนจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงจากโควิด-19