15 โรงแรมดังจี้ รบ. ช่วยเหลือ เร่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หวั่นธุรกิจเจ๊ง

15 โรงแรมดังจี้รบ.ช่วยเหลือ เร่งเปิดปท.รับนักท่องเที่ยว หวั่นธุรกิจเจ๊ง ‘คลัง’ คาดสรุปคนละครึ่งเฟส 2 ภายใน ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมและท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ล่าสุดที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์วันที่ 17 พฤศจิกายน ภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหารโรงแรมชื่อดังของไทยประมาณ 20 ราย อาทิ กลุ่มบริษัทและโรงแรมในเครือสุโกศล ,กลุ่มบริษัทดุสิตธานี ,ดิเอราวัณ กรุ๊ป,ไมเนอร์ อินเตอร์เนชันแนล และแอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือเอดับบลิวซี ช่วงเย็นวันที่ 16 พฤศจิกายน ว่า เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอต่างๆ เพิ่มเติม ในการช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 และแนวทางในการเดินทางภาคการท่องเที่ยวต่อจากนี้ ซึ่งจากการหารือส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมทั้งเสนอแนวทางช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน ภาษี และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเพิ่มเติม

  • ชงศบศ.ลดกักตัว-ลุยกองทุนโรงแรม

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) วันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ จะหารือถึงการผ่อนปรนการกักตัว โดยจะเตรียมเปิดให้ผู้กักตัวอยู่ในพื้นที่จำกัดได้ อาทิ โรงแรมที่มีพื้นที่ติดทะเล จะอนุญาตให้ออกมาเดินชายหาด หรืออาบแดด ได้ แทนการอยู่แต่ในห้องอย่างเดียว

“ข้อเสนอที่กำลังพิจารณา อาทิ การปรับเงื่อนไขเที่ยววันธรรมดา จะนำเรื่องไปหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป รวมถึงกรณีการตั้งกองทุนขึ้นมาดูแล ซึ่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ผลักดันเรื่องนี้แล้ว อาจใช้วงเงินประมาณ 50,000 – 100,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือเอกชน และเอสเอ็มอีที่เดือดร้อน ส่วนข้อเสนออื่นๆ จะนำไปหารือกับนายกรัฐมนตรี ในประชุมศบศ. ต่อไป โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเรื่องอี-วีซ่า ล่วงหน้าไว้ให้พร้อมรองรับต่างชาติ” นายพิพัฒน์ กล่าว

  • โรงแรมจี้เปิดประเทศก่อนล่มสลาย

น.ส.ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนในประเทศเข้าใจและยอมรับว่าการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาแล้ว ไม่ได้ทำให้ประเทศแปดเปื้อนหรือไม่สามารถรักษาความเป็นที่หนึ่งของประเทศที่ไม่มีโควิด-19 ได้ เพราะหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ไม่แก้ไขอะไรเพิ่มเติม ประเมินว่าอีก 6-10 เดือนข้างหน้าถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาคงถึงเวลาล่มสลายแน่ จึงต้องการให้ศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ ที่เปิดให้ฮ่องกงสามารถเดินทางไปมาหากันได้แบบไม่มีการกักตัว ต้องการเห็นแบบนี้กับประเทศไทย โดยร่วมกับประเทศใดก็ได้

Advertisement

“ส่วนข้อเสนออื่นๆ มีทั้งการกระตุ้นกลุ่มคนมีเงิน ให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศแล้วสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ หรือจับคู่ประเทศเดินทางไม่กักตัว (ทราเวลบับเบิล) อาทิ การทำกับบางมณฑลในประเทศจีน หรือการผ่อนปรนการกักตัวที่มีกฎเกณฑ์ที่มากเกินไป จนผู้ที่มาท่องเที่ยวไม่มีความรื่นรมย์ และการจัดแคมเปญการตลาดดึงต่างชาติในกลุ่มประเทศต่างๆ ตลอดปี” น.ส.ศุภวรรณ กล่าว

  • วอนเหลื่อมวันทำงานกระตุ้นเที่ยว

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการภาครัฐน่าจะเจาะจงช่วยโรงแรมได้ เพราะโรงแรมเป็นภาคธุรกิจที่ฟื้นช้าที่สุด อาทิ การช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานของโรงแรม 50% ในลักษณะเดียวกับมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยจ่ายค่าแรงให้เด็กจบใหม่ รวมถึงขยายเวลาลดเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 33 เหลือ 2% ที่กำลังจะสิ้นสุดในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ออกไปอีกระยะหนึ่ง และคงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องจ่ายในปีหน้าไว้ที่ 10% เนื่องจากประเมินว่าจะสามารถช่วยลดความเดือดร้อนลงได้บ้าง พร้อมกันนี้ยังต้องการเห็นความชัดเจนถึงการปรับลดเวลาการกักตัว 14 วัน ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่

Advertisement

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเปิดประเทศต้อนรับต่างชาติ เพราะหากปล่อยไปเรื่อยๆ อาจทำให้โรงแรมอยู่ไม่ไหว เพราะตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายกว่า 10 – 100 ล้านบาท จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ อาทิ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือการประกันเงินกู้ รวมทั้งเสนอให้มีการเหลื่อมวันทำงานเพื่อกระตุ้นให้คนเที่ยววันธรรมดามากขึ้น โดยอาจนำร่องที่หน่วยงานราชการก่อน และเร่งผลักดันกองทุนช่วยเหลือภาคท่องเที่ยว หรือในอนาคตหากมีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 แล้ว ก็อยากให้ไทยเตรียมความพร้อมในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวได้วัคซีนแล้วก็สามารถออกอี-วีซ่า และอนุญาตให้เดินทางเข้ามาได้ทันที พร้อมมีการติดตามตัวในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเกิดขึ้นแน่นอนในช่วงกลางปี 2564 ในบางประเทศ

  • คนละครึ่งเฟส 2 สรุป ธ.ค.นี้

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าของการใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่ง ว่า ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เวลา 15.00น. มียอดการใช้จ่ายสะสม 18,144.5 ล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนใช้จ่าย 51% และส่วนที่รัฐบาลออกให้อีก 49% ส่วนจำนวนร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการมีจำนวนทั้งสิ้น 702,130 ร้านค้า

นายพรชัย กล่าวว่า ประชาชนที่ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งรอบที่ 2 เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาสำเร็จ ขอให้ใช้จ่ายภายใน 14 วัน เพื่อรักษาสิทธิในโครงการคนละครึ่งระยะที่1( เฟส 1) ที่จะสิ้นสุดการใช้จ่ายในโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ส่วนความคืบหน้าของโครงการคนละครึ่งระยะที่2 (เฟส 2) ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน จะมีข้อสรุปในช่วงธันวาคม 2563 เพื่อให้มีมาตรการออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ในช่วงต้นปี 2564 และกระจายรายได้ไปยังร้านค้ารายย่อยได้อย่างต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

    QR Code
    เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
    Line Image