ฝรั่งเศสสนลงทุนศูนย์ซ่อมเครื่องบิน-รถไฟส่วนเจโทรยังใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังจากการหารือกับนายฌีล การาชง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ว่า ทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนโครงการพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆภายในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าใน 3 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี รวมทั้งยังสนใจในโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – หัวหิน เนื่องจากฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงในการเดินรถไฟความเร็วสูงเตเชเว ที่วิ่งให้บริการในภายในประเทศ และโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ภายในจ.ภูเก็ต โดยใช้ระบบรถรางไฟฟ้า (แทรม) เพื่อสร้างการเชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองภูเก็ตและสนามบินภูเก็ต ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

นายอาคม กล่าวว่า นอกจากนี้สายการบินแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม ของประเทศฝรั่งเศส มีความสนใจที่จะร่วมลงทุนกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มาจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินในนิคมอุตสาหกรรมการบินที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากในปัจจุบันศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่ประเทศสิงคโปร์ และประเทศจีนเต็มขีดความสามารถในการรองรับเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการมาจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่ประเทศไทยจึงมีความน่าสนใจ เพราะประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางทางการบินที่สำคัญในภูมิภาค ซึ่งในส่วนความคืบหน้าของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน ในขณะนี้ทางสนข.ได้จัดทำผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าน่าจะเสนอเข้าครม.ได้เร็วๆนี้ โดยรูปแบบการลงทุนจัดตั้งนิคมการบินเบื้องต้น คาดว่าจะดำเนินการในรูปแบบการลงทุนรวมภาครัฐและเอกชน (พีพีพี )ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในส่วนของการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบินจำนวน 2 อาคารก่อนและหลังจากนั้นจะขยายสู่การจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินต่อไป

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับการเข้าพบผู้แทนองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร)นั้น ทางเจโทรได้รายงานผลการสำรวจความเชื่อมั่นของบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในประเทศไทย ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาว่า นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายด้านการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐด้วยการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่วนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย นักลงทุนญี่ปุ่นยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่ยังตกต่ำ เนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ทำให้การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่พบว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญที่จะรักษาไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์อยู่ และยังเห็นว่าควรที่จะขยายไปลงทุนในห่วงอุปทาน (ซับพลาน เชน) อื่นๆ อย่างการผลิตชิ้นส่วน และการทำวิจัยพัฒนา การออกแบบสินค้าตามรสนิยมของคนไทยและประเทศที่ส่งออกให้มากขึ้น เพื่อเป็นการขยายตลาดและรองรับกับปริมาณความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image