แบงก์ชาติ เล็งออกมาตรการตามเหมาะสม ดูแลค่าเงินบาท ย้ำไม่นิ่งนอนใจ
วันที่ 19 พฤศจิกายน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังปาฐกถาหัวข้อ ESG : Empowering Sustainble Thailand’s Growth ในงานสัมมนาFacing the of ESG. Thailand’s Nest Steps toward Susstainability : ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ว่า ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการเหมาะสมมาดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ธปท.เข้าไปดูแลเงินบาทอย่างต่อเนื่อง จากที่ผ่านมาทุนสำรองทางการระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นผลจากการดำเนินการดังกล่าวด้วย
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เช่นเดียวกับ คณะกรรมการนโยบยการเงิน (กนง.) ที่ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ว่ากังวลเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งเป็นผลจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินอาจไม่ส่งผลกับการส่งออก แต่จะส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) ที่ผู้ส่งออกจะได้รับ จากสภาวะโลกปัจจุบัน อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และปัญหาหนี้สิน เป็นต้น แต่อีกหนึ่งความกังวลคือในเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัด ที่อาจกลับมาเกินดุลมากขึ้น จากกระแสข่าวเรื่องวัคซีนรักษาโควิด-19 ส่งผลให้เงินบาทแข็งขึ้น
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หากกระแสข่าวเรื่องวัคซีนยิ่งสะพัดออกไปทำให้ค่าเงินแข็ง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่กลับมาเที่ยวไทย จะถือว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตของไทยยังเปราะบางอยู่ สำหรับเรื่องมาตรการในการดูแล กำลังอยู่ในขั้นนตอนพิจารณามาตรการที่เหมาะสม ซึ่งมาตรการนี้ต้องดูในแง่ของภาพรวม และต้องคิดถึงผลข้างเคียงที่สำคัญด้วย
“ย้ำว่าธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลายคนคิดว่าพอค่าเงินแข็ง ธปท. ไม่ได้ทำอะไร การที่เราไม่ได้แถลงชี้แจง ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้ทำอะไร หลายๆ ครั้งมีการทำมาตรการที่เหมาะสมแต่ไม่ได้ออกมาชี้แจง อันที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของการดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายของธปท.อยู่ที่ 0.5% ซึ่งต่ำที่สุดในประวัติการณ์ และต่ำที่สุดในภูมิภาค” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว