เลขาฯสภาพัฒน์ ย้ำจีดีพีปี 64 พลิกบวก 4% ได้ แนะถึงเวลาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

เลขาฯสภาพัฒน์ ย้ำจีดีพีปี 64 พลิกบวก 4% ได้ แนะถึงเวลาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สถาปนิกกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2564” จัดโดยสภาสถาปนิก ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้อย่างมาก ส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 2/2563 ติดลบ 12.2% เรียกได้ว่าต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และก่อนหน้านี้ประเมินว่าตัวเลขไตรมาส 3 ติดลบ 7.5% แต่จากการคลายล็อกดาวน์ ทำให้สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และสถานการณ์โดยรวมของประเทศดีขึ้น ในไตรมาส 3 จีดีพีติดลบที่ 6.4% ดีขึ้นกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้ จึงทำให้จากเดิมเคยประเมินจีดีพีทั้งปี 2563 จะติดลบ 7.5% เหลือติดลบ 6%

“หากสถานการณ์ยังดีขึ้นเรื่อยๆ มีการร่วมแรงร่วมใจกัน หรืออาจมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีความเป็นไปได้ว่าปี 2564 จีดีพีกลับมาเป็นบวกได้ประมาณ 4% อย่างไรก็ตามจากปัญหาทั้งหมดทำให้เห็นว่า ประเทศของเรายังขาดความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจที่มากพอจะรองรับวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ในระยะถัดไปเราจึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่ผ่านมา เราเน้นพึ่งพาการท่องเที่ยวกับการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ในโครงสร้าง ในระยะถัดไปจึงต้อง Diversify หรือสร้างความหลากหลายในโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ Sectors ใหม่ๆ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสุขภาพและการป้องกัน รวมทั้ง Medical Care หรือการรักษา ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องลงทุนกันต่อไปในอนาคต”

นายดนุชากล่าวว่า สถาปนิกกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ถือว่ามีบทบาทสำคัญมาก ประการแรก ทิศทางเศรษฐกิจของไทย จะเน้นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลักเมืองรองต่างๆ โดยการพัฒนาเมืองหลักนั้นจะเน้นให้เป็น Growth Pole หรือศูนย์กลางการเติบโต แล้วกระจายไปสู่เมืองรองต่างๆ สร้างโอกาส สร้างแหล่งงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับประชาชน ให้เขาไม่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือความเป็นเมืองจะขยายมากขึ้น ชนบทกับเมืองจะใกล้ชิดเข้าหากันมากขึ้น ดังนั้น ในอนาคตการวางผังเมืองในเมืองหลักและเมืองรองจะกลายมาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจุดนี้เป็นบทบาทสำคัญของสถาปนิก ในการที่จะใช้ความเชี่ยวชาญในการวางผังเมืองที่มีความเหมาะสม รองรับการเติบโต

ประการที่สอง เมื่อเราต้องพัฒนาเมืองให้กระจายการเติบโตออกไป อีกสิ่งที่สำคัญคือการดึงเอาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาผสมผสานให้แต่ละเมืองเกิดความแตกต่างที่น่าดึงดูดใจ เพราะหากขาดอัตลักษณ์แล้ว การพัฒนาเมืองแต่ละเมืองก็จะดูเหมือนๆ กันหมด ขาดความน่าดึงดูดใจ สำหรับเมืองหลักที่มีการพัฒนาไปแล้วอย่างเช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ในอนาคตก็จะต้องมีการเติมเต็มเรื่องอัตลักษณ์ให้มีความชัดเจน ในอนาคตจะได้เห็นความร่วมมือจากภาครัฐและท้องถิ่นมากขึ้นในการพัฒนาภูมิทัศน์ของเมืองให้มีความน่าอยู่ มีการวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพผสานการชูอัตลักษณ์ของแต่ละท้องที่ ซึ่งนี่เป็นจุดสำคัญที่ต้องอาศัยคนในวิชาชีพสถาปนิกเข้ามามีบทบาทสำคัญ

Advertisement

ประการที่สามที่สถาปนิกจะมีบทบาทช่วยได้อย่างมาก คือ ทิศทางการพัฒนาประเทศต่อจากนี้ จะมุ่งขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development ซึ่งประเทศของเราได้ลงนามใน The Paris Agreement ว่าจะมีการลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนลดราว 20% ในอีก 20 ปีข้างหน้า จากปริมาณที่เราปล่อยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นทางสังคมที่ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน เพราะไม่เพียงแต่การลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม หรือการคมนาคม แต่ยังรวมถึงการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน อันจะส่งผลช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งบทบาทของสถาปนิกก็ช่วยขับเคลื่อนประเด็นนี้ได้เป็นสำคัญ เพราะสถาปนิกเป็นวิชาชีพที่มี Creative Mind มีความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นนวัตกรรม ทั้งการออกแบบก่อสร้าง นวัตกรรมวัสดุ ที่จะมาเติมเต็มดีมานด์การก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงานเหล่านี้ แน่นอนว่าจะส่งผลต่อไปยังภาคการผลิตวัสดุก่อสร้างด้วย เพราะจะเกิดดีมานด์ของสถาปนิก ที่ทำให้ฝั่งผู้ผลิตจะต้องไปคิดค้น วิจัย และผลิตขึ้นมาให้ตอบโจทย์ความต้องการ ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อมาคือผลิตภัณฑ์วัสดุนวัตกรรมเหล่านี้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้

ประการสุดท้าย เมื่อเมืองกับชนบทมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ชุมชมต่างๆ ก็จะขึ้นมามีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการผลิตสินค้าของชุมชนยังมีปัญหาอยู่มาก มีผลทำให้สินค้าไม่ได้รับความสนใจหรือไม่ดึงดูดใจผู้ซื้อ ซึ่งจากการได้พูดคุยกับอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ก็มีเคสที่ชุมชนผลิตสินค้าพื้นบ้านออกมาแล้วขายไม่ดี ขายไม่ได้ จนวันหนึ่งมีสถาปนิกที่เป็นลูกหลานของชุมชน เข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่มีดีไซน์ทันสมัยสวยงามเหมาะสม มีบรรจุภัณฑ์ที่น่าซื้อ ก็ช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้และทำให้สินค้าขายดีขึ้น จากเดิมที่ทำขายกันตามมีตามเกิด ซึ่งในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนนี้ ก็เชื่อว่าคนในวิชาชีพสถาปนิกจะมีบทบาทที่สำคัญมากที่จะช่วยเหลือให้เศรษฐกิจในระดับชุมชนนั้นดีขึ้น กลายเป็นรากฐานที่มั่นคงของการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image