พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ปัจจัยบวกและอุปสรรคขับเคลื่อน ‘ศก.ดิจิทัล’

พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์
ปัจจัยบวกและอุปสรรคขับเคลื่อน‘ศก.ดิจิทัล’

หมายเหตุ – หนังสือพิมพ์มติชน กำหนดจัดสัมมนา “7 เสือที่อยากเห็น กสทช.ชุดใหม่ เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย” วันที่ 25 พฤศจิกายน ณ ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด เวลา 09.00-12.00 น. ภายใต้มาตรการควบคุมโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข มีนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมสัมมนาดังกล่าว ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงมุมมองที่มีต่อ กสทช.ชุดใหม่

ปัจจัยบวกและอุปสรรคขับเคลื่อน‘ศก.ดิจิทัล’

เนื่องจากตลาดในประเทศไทยค่อนข้างมีความพร้อม เพราะมีโอกาสของธุรกิจ จะมาเก็บเกี่ยวจากความพร้อมของผู้บริการและผู้บริโภค ทั้งในส่วนของบุคคลและองค์กร โอกาสพัฒนาต่อเป็นในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีจะช่วยให้มีพื้นที่เข้ามาเล่นในเศรษฐกิจยุคใหม่นี้ ทั้งในส่วนของช่องทางการขายของ และการพัฒนาโครงสร้างต้นทุน แน่นอนว่ารัฐบาลต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะว่าการลงทุนปรับเปลี่ยนระบบการผลิต หรือระบบการบริการแบบเดิมมาเป็นของใหม่ ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมาก การที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยดูแลในส่วนของการหาแหล่งเงินกู้ คำแนะนำ และการอุดหนุนต่างๆ มีความสำคัญมาก เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นรากฐานของเศรษฐกิจภาพรวมในประเทศไทย ไม่อยากเห็นเศรษฐกิจในประเทศไทยมีผู้เล่นรายใหญ่อยู่ไม่กี่ราย แต่ครอบครองตลาดทั้งประเทศ ทำให้พวกเราทุกคนกลายเป็นลูกจ้าง หากเป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจไทยจะไม่แข็งแรง

อุปสรรคที่สำคัญเป็นเรื่องกลไกของตลาด หากรัฐจะขยับขยายตัวจนมีขนาดใหญ่ หรือการที่รัฐปล่อยให้กลุ่มธุรกิจขยายตัวมากเกิน จนทำให้ตลาดขาดประสิทธิภาพ มีความสมบูรณ์น้อยลง จนกลายเป็นกึ่งผูกขาด ส่วนนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ รัฐบาลควรกล้าทำภาพของตลาดให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย

Advertisement

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทำให้5จีเกิดขึ้นช้า
เป็นเรื่องของการสรรหา กสทช. หรือการใช้อำนาจ เพราะหากพูดจริงๆ 5จี ตอนนี้เริ่มต้นแล้วในประเทศไทย แต่เริ่มต้นที่คลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ไม่ได้เป็นคลื่นหลักในการใช้ 5จี ของทั่วโลก ทำให้ประสิทธิภาพการใช้ 5จี ด้อยลง ทั้งในแง่ของต้นทุนของผู้ประกอบการในการลงทุน ต้นทุนของผู้บริโภคในการซื้อโทรศัพท์มือถือใหม่ รวมถึงการใช้อุปกรณ์ไม่ได้เป็นอุปกรณ์ส่วนใหญ่ในตลาด แต่เป็นอุปกรณ์เฉพาะ ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการแพงขึ้น ต่อให้ต้นทุนของใบอนุญาตถูก แต่ราคาอุปกรณ์แพงขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนในภาพรวมแพงขึ้นเหมือนกัน ภาระก็จะตกมาสู่ผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเกิดขึ้นของ กสทช. มีความสำคัญมาก เพราะ กสทช.ชุดใหม่ จะต้องผลักดันในการนำคืน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ทั่วโลกใช้กันมาใช้ใน 5จี ให้ได้

คุณสมบัติของ กสทช.ชุดใหม่ คาดว่าจะเข้ามาทำงานต่อเนื่องนั้น จากคุณสมบัติที่กำหนดไว้ คาดว่าน่าจะเป็นผู้มีอายุค่อนข้างสูง น่าเสียดายมากผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจะเข้ามาทำงานในด้านนี้ และมีอายุยังค่อนข้างน้อยไม่ได้ถูกรับเลือก แต่ก็ยังหวังว่าผู้เข้ามาทำงานต่อจะมีทัศนคติที่ดี มุ่งมั่นและเป็นกลางในการทำงาน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านดิจิทัลของประเทศไทยอย่างแท้จริง ปัจจัยนี้เป็นจิตสำนึกของผู้จะได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็น กสทช.ต่อ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image