‘ธปท.’ ออก 3 มาตรการเร่งด่วนดูแลค่าเงินบาท หนุนคนไทยกระจายความเสี่ยงลงทุนต่างประเทศเพิ่ม

‘ธปท.’ ออก 3 มาตรการเร่งด่วนดูแลค่าเงินบาท หนุนคนไทยกระจายความเสี่ยงลงทุนต่างประเทศเพิ่ม

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.ได้ออก 3 มาตรการ ได้แก่ 1.เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (เอฟซีดี) 2.ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และ 3.การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (บอนด์) เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย รวมถึงช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีนักลงทุนรายย่อยที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ ประมาณ 500 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีอยู่ประมาณ 300 ราย จึงคาดว่าในแง่จำนวนรายจะทยอยเพิ่มมากขึ้น หลังจากมีการผลักดันมาตรการเหล่านี้

นางสาววชิรากล่าวว่า ทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยง ในการลงทุนสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น อาทิ การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการเพิ่มมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทยและสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น โดยได้เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากเดิม 200,000 เหรียญสหรัฐต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ สำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

Advertisement


“ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทย ต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขาย ทำให้ ธปท.สามารถระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท.สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น โดยแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศ อาทิ เกาเหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน โดยกระทรวงการคลังจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ จากนั้นมาตรการ 1 และ 2 สามารถเริ่มดำเนินมาตรการได้ทันทีภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนมาตรการที่ 3 ยังต้องหารือกับผู้ร่วมตลาด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเร็วที่สุดภายในต้นปี 2564 เนื่องจากการยันตัวตนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้มีเครื่องมือดูแลตลาดได้อย่างเหมาะสม”
นางสาววชิรากล่าว

นางสาววชิรากล่าวว่า มาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการระยะยาว แต่สามารถช่วยในระยะสั้นได้ด้วย โดย ธปท.จะเข้าไปดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนจนเกินไป เพราะตลาดยังมีความเปราะบาง และมีหลายปัจจัยมาก ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในระยะสั้นยอมรับว่าเห็นเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนและมีการเก็งกำไรในตลาดบอนด์ แต่ก็ยังไม่ได้มีความผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในระยะถัดไป หากค่าเงินมีความผันผวนหนัก หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้น ธปท.ก็มีมาตรการเตรียมพร้อมไว้รองรับอยู่แล้ว และพร้อมใช้เครื่องมือเพิ่มอยู่แล้ว

“ในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยภายนอก อาทิ ผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จึงกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ไม่เฉพาะไทยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศในภูมิภาค ส่งผลให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็วซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความผันผวนของเงินบาท” นางสาววชิรากล่าว

Advertisement

ด้านนางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น มีน้ำหนักในการส่งผลกระทบน้อยกว่าความผันผวนที่เกิดขึ้น โดย ธปท.ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็วมากเกินไป เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันสถานการณ์ ซึ่งการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และกระทบต่อเนื่องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมหรือไม่ มองว่าปัจจัยที่มีผลกระทบหลักๆ เป็นเศรษฐกิจต่างประเทศ เนื่องจากหากเศรษฐกิจในต่างประเทศยังไม่ดีขึ้น การส่งออกและท่องเที่ยวก็จะไม่ฟื้น แต่หากค่าเงินมีความผันผวนมากๆ อย่างไรก็จะมีความกังวลเพิ่มขึ้นอยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image