อึ้ง! เปิดไส้ในบริษัทส่งออก 50 อันดับแรกของไทย เป็นต่างชาติ

อึ้ง! เปิดไส้ในบริษัทส่งออก 50 อันดับแรกของไทย เป็นต่างชาติ

ส.อ.ท.เผยส่งออกไทยน่าตกใจ 50 บริษัทอันดับแรกเป็นของต่างชาติ จี้ถึงเวลาปรับโครงสร้าง มุ่งบีซีจี เลิกขายวัตถุดิบเกษตร หันผลิตยา อาหารเสริม ชื้อเพลิงชีวภาพ สิ่งทอเส้นใยธรรมชาติ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอให้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยผ่านแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ว่า เห็นด้วยที่เศรษฐกิจไทยจะต้องปรับโครงสร้าง โดยเฉพาะในช่วงหลังจากนี้ที่ นายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม มนุษยชน การปล่อยคาร์บอร การผลิตรถไฟฟ้า (อีวี) สิ่งเหล่านี้ไทยต้องเตรียมตัว เพื่อรับนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ นอกจากนี้ผลจากการที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก 60-70% ของจีดีพี พร้อมทั้งพึ่งพาเรื่องของการท่องเที่ยวมาก รายได้ประเทศที่พึ่งพา 2 ด้านนี้เป็นหลัก เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้รับผลกระทบรุนแรง เดี๊ยงเลย

นายเกรียงไกร กล่าวว่า เมื่อดูไส้ในการส่งออกของไทย พบว่าสิ่งที่น่าตกใจ ไม่รู้ว่าเป็นการหลอกตัวเองหรือเปล่า เพราะใน 50 บริษัทผู้ส่งออกมาตลอดหลาย 10 ปี ไม่มีบริษัทของคนไทยเลย เป็นต่างชาติทั้งนั้น และหนึ่งในนั้นมีมูลค่าการส่งออกมากกว่าอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยที่ไม่ถึง 1 แสนล้านบาท จากข้อมูลนี้จะเห็นว่าไทยเป็นเพียงฐานการผลิตจริงๆ ความสามารถทางการแข่งขันของไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่อง จุดเด่นจุดแข็งที่มีก็หายไป หลายอุตสาหกรรมที่ส่งออกคนไทยได้แค่ค่าแรง อย่างอุตสาหกรรมไม่มีวัตถุดิบเลยต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่ใช้แรงงานไทยทำ และปัจจุบันก็ใช้ต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย

“สิ่งที่สะท้อนหลังจากนี้คือปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาการใช้แรงงานในภาคประมง การใช้แรงงานหญิงตั้งครรภ์ แรงงานเด็ก สุดท้ายไทยจะถูกกล่าวหา จับตา และถูกลงโทษ ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่ผันผวนแข็งค่ารวดเร็วจนเกือบต่ำกว่า 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐจากนโยบายผู้นำสหรัฐฯที่ประกาศอัดฉีดเงินเข้าระบบ ยิ่งทำให้ต้นทุนสินค้าของไทยสูงขึ้น แข่งขันลำบากมากขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว

Advertisement
  • ชูบีจีซีทางรอดไม่ต้องห่วงค่าบาท

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท.มีการปรับตัวเพื่อสร้างจุดแข็งของไทยรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับบีซีจี คือ ไบโอ อีโคโนมี เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี และกรีน อีโคโนมี ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบ มีจุดแข็งจากความหลากหลายทางชีวภาพสูงระดับต้นของโลก แต่ปัญหาของไทยคือพืชผลทางการเกษตรที่ล้นตลาดไทยไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ในหลายมิติ ตอนนี้ไทยเน้นขายวัตถุดิบ หรือกึ่งวัตถุดิบที่มีการแปรรูปเป็นผง แต่สิ่งที่เป็นเป้าหมายของบีซีจีคือ การทำให้เป็นยารักษาโรค อาหารเสริม ไบโอพลาสติก เชื้อเพลิงชีวภาพ และผลิตภัณฑ์เส้นใยวัตถุดิบของอุตสาหกรรมสิ่งทอ

“สิ่งเหล่านี้จะเพิ่มมูลค่าได้หลากหลายมิติ มูลค่ามหาศาล ใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบ 100% การผลิตเหล่านี้จะเป็นความยั่งยืน ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินเหมือนในปัจจุบัน ไทยต้องปรับโครงสร้าง เพราะปัจจุบันการลงทุนต่างชาติลดลง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม ไทยกำลังเสียเปรียบ เพราะค่าแรงสูงกว่า ทำให้ปัจจุบันการส่งออกของไทยเป็นเพียงฐานการผลิตแต่ประโยชน์ไม่ได้ตกกับไทยมากนัก” นายเกรียงไกร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image