ถึงเวลา..ถุงมือยางพารา! หมอ ม.อ. ไม่แพ้โปรตีน – กยท. เร่งสร้างจุดเปลี่ยน

“กยท.” ร่วม ม.อ. เปิดเวที “การแพ้โปรตีนในยางพารา” นักวิจัยพบ “ถุงมือยาง” จากยางธรรมชาติ ไม่ส่งผลกระทบต่อผิวหนัง เผยบริษัทอเมริกันจดสิทธิบัตร แพทย์ ม.อ. ระบุใช้งานได้ดี ประธานบอร์ด กยท. หวังเป็นจุดเปลี่ยน สร้างเสถียรภาพราคายางพารา

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวถึงที่มาในการจัดเสวนา เรื่อง การแพ้โปรตีนในยางพารา โดยกยท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ที่โรงแรมบรรจงบุรี จ.สุราษร์ธานี ระหว่างวันที่ 24 – 25 พฤศจิกายน 2563 ว่า จุดอ่อนที่น้ำยางธรรมชาติถูกโจมตีมากที่สุดคือ เรื่องโปรตีนที่อยู่ในยาง ที่บางคนเกิดการแพ้ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์น้อยมากช่วง7-8 ปีก่อน มีการปรับเปลี่ยนไปใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น ยางธรรมชาติจึงถูกโจมตีมาตลอดว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแพ้ ด้วยองค์ความรู้ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีวิจัยที่เรียกว่า “โปรตีนต่ำ” คือระดับโปรตีนที่อยู่ในยางพาราต่ำกว่ามาตราฐานของอเมริกาหรือยุโรปที่อนุญาติให้ถุงมือยางพาราธรรมชาติ ต้องมีโปรตีนไม่เกินจุดที่กำหนด จึงอยากให้มีงานที่เชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องมาจัดเวที หลังจากนี้ ก็จะนำงานวิจัย ทั้งหลายมาตีพิมพ์ในวารสารยาง ที่โลกยอมรับแล้วทำการสื่อสารไปในระดับโลกว่า ณ วันนี้ภาพของยางพาราธรรรมชาติกับโปรตีนที่คิดว่าน่ากลัวในความเป็นจริง ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ
“เป้าหมายของงานนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่นำองค์ความรู้ที่เชี่ยวชาญระดับประเทศ มาสื่อสารกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า ยางพาราธรรมชาติโปรตีนต่ำ สามารถทำได้แล้ว แล้วเราจะขยายออกไปเป็นเวทีระดับชาติ สื่อสารไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยางทั้งหลายทั่วโลก” นายประพันธ์ กล่าวและว่า

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ

กรณีดังกล่าวจะส่งผลต่อเสถียรภาพราคายางพารา รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าที่จะทำรายได้ให้ประเทศไทย แม้จะไม่ส่งผลชั่วข้ามคืน แต่เป็นมาตรการระยะยาวที่มีความมั่นคง เราไม่ได้เข้าไปเร่งหรือจัดการในเรื่องราคา แต่เป็นการที่สร้างความต้องการอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น จนเป็นความมั่นคงอย่างถาวร

รศ.ดร. เจริญ นาคะสรรค์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานีและกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแพ้โปรตีนเป็นเรื่องใหญ่มาก ในถุงมืองยางธรรมชาติ 14-15 ปีที่แล้วถุงมือยางไม่ว่าจะเป็นถุงมือยางทางการแพทย์ หรือถุงมือยางทั่วไป จะใช้ยางธรรมชาติทั้งหมด แต่เมื่อเจอประเด็นบริษัททำถุงมือยางของประเทศอังกฤษ พบคนอังกฤษ 1 คน เกิดอาการแพ้และเสียชีวิต แล็บยุโรปและตะวันตกทำวิจัยเรื่องการแพ้โปรตีนในถุงมือยางพารา ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ว่า แพ้จริง สรุปว่า คนแพ้โปรตีน 1-6% แพ้ตั้งแต่น้อยมากถึงมากที่สุด แต่เขาไม่ได้บอกว่า เป็นคนที่ไหน

Advertisement

เดิมมาตราฐานถุงมือ ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรง ความสัมพันธ์ของแก๊ส มีมาตรฐานที่สูงมากเพราะยางพาราคุณสมบัติดี จึงได้หาตัวแทนยางธรรมชาติ เป็นยางพาราสังเคราะห์ เช่น ยางไนไตรล์ ยางคลอโรฟิลล์ แต่ยางพาราสังเคราะห์เหล่านี้มีปัญหาคุณสมบัติเชิงกลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการทนต่อแรงฉีกขาดหรือแรงดึง สู้ถุงมือยางธรรมชาติไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายเลยปรับลดมาตราฐานลง เพื่อให้ถุงมือยางสังเคราะห์เหล่านี้เข้าสู่ตลาดได้


“คำถามคือ การแพ้โปรตีนมีความจริงมากน้อยแค่ไหน ไม่มีใครรู้ ประเทศไทยที่ผลิตยางพาราธรรมชาติเอง ไม่เคยทำวิจัยมาป้องกันตัวเอง มีแต่ไปตามวิจัยของต่างชาติ” รศ.ดร.เจริญ กล่าว และว่า
เชื่อว่า คนบางเผ่าพันธุ์ อาจจะไม่แพ้ หรือแพ้น้อยยางพาราบางพันธุ์ อาจจะไม่ส่งผลให้คนแพ้หรือแพ้น้อยข้อสงสัยเหล่านี้อยู่ที่ไหน ใครจะเป็นคนไปหาความจริงจึงเป็นที่มาที่ได้ปรึกษาหารือ กับประธานบอร์ดกยท.ว่า ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแถวสงขลา ทั้งหลายก็เปลี่ยนสภาพไลน์การผลิตจากยางธรรมชาติเป็นยางสังเคราะห์ ในมาเลเซียเอง ก่อนหน้านี้น้ำยางมาเลเซียในประเทศไม่เพียงพอ จึงมีนำน้ำยางจากบ้านเราไป ตอนนี้อัตราการส่งออกน้ำยางไปมาเลเซียน้อยลง เพราะมาเลเซียเริ่มเปลี่ยนไปใช้น้ำยางสังเคราะห์ บริษัทใหญ่ในมาเลเซียประกาศแผนหลังจากโควิค19 หันมาจับ อุตสาหกรรมถุงมือยางโดยใช้ยางสังเคราะห์ เพราะฉะนั้น จะมีภัยคุกคามกับยางพาราธรรมชาติมากขึ้น จึงเกิดเป็นสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อพิสูจน์ว่า การแพ้โปรตีนจากยางพารามีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
“เราไม่เคยพิสูจน์ว่ายางพาราในประเทศไทยทำให้เกิดอาการแพ้เหมือนกันหรือไม่ สมมุติว่าเราทดลองเหมือนยุโรป แต่เป็นเชื้อชาติอื่น เผ่าพันธุ์อื่น เช่น คนไทย จีน ผิวสี ว่าจะแพ้เหมือนกันหรือไม่ เพราะคนไทย ไม่มีใครแพ้หรืออาจจะแพ้น้อยมาก แต่ในโรงพยาบาลแทบไม่เจอคนที่แพ้โปรตีนยางพาราในถุงมือเลย”
รศ.ดร.เจริญ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีนักวิชาการ นักวิจัยในด้านนี้ หากพวกเรารวมตัวกัน สามารถทำเรื่องนี้ได้ภายใน 5-10 ปี จะพลิกอุตสาหกรรมถุงมือยางในประเทศ รวบรวมงานทั้งหลาย เกี่ยวกับวิธีการลดโปรตีนทำอย่างไร และก็เรื่องเกี่ยวกับการแพ้ทั้งหลาย ที่มีการจดสิทธิบัตร เรื่องโปรตีนมีที่ไหนในโลกบ้าง แล้วเขาจดเรื่องอะไรกัน มาสัมมนากัวันที่ 24-25 พฤศจิกายนนี้
“เราจะจัดตั้งศูนย์วิจัยการแพ้โปรตีนในยางพารา ซึ่งจะร่วมกับ กยท. และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยียาง ชีวเคมี และการแพทย์ โดยนักวิชาการที่มีความสามารถในการตีพิมพ์งานวิจัย เพื่อให้เข้าถึงคนอ่านได้มากที่สุด และนำในเวทีวิชาการระดับโลก เพราะถุงมือยางธรรม
ชาติดีกว่ายางสังเคาะห์ ทั้งความเข็งแรงและยืดหยุ่น”
ทั้งยางสังเคราะห์ยังมีสารพิษมากกว่ายางธรรมชาติ นั่นคือ สารไซยาไนด์ในถุงมือสังเคราะห์ หากเราทดสอบแล้ว มียางพันธุ์ไหนที่ไม่มีการแพ้ก็สนับสนุนให้เกษตรกรปลูก 7 ปีก็เห็นผล สร้างโรงงานผลิตถุงมือได้
นักวิจัยสาขาที่สำคัญๆ ที่ได้นำมาร่วมงานนี้สัมมนาครั้งนี้จะประกอบด้วยด้านต่างๆ อาทิ ด้านเทคโนโลยียาง ผู้ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับยาง ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบ โมเลกุลยาง การขึ้นรูปยาง เป็นต้น, ด้านชีวเคมี เรื่องโมเลกุลสิ่งมีชีวิต โปรตีนการแพ้, แพทย์ จะเป็น
ตัวเชื่อมด้านเทคโนโลยียางและชีวเคมีในร่างกายมนุษย์ “สามกลุ่มนี้นักวิชาการเก่งๆ ที่มีความสามารถในการตีพิมพ์นำความเป็นจริงมาหักล้างข้อมูลเดิมได้”
ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตถุงมือทุกแห่งจะมีตัวแทนเข้าร่วม ซึ่งหลังจากจบสัมมนาข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังบริษัทต่างๆ เราจะสร้างเครือข่ายเอาไว้ เพื่อเชื่อมโยง เผยแพร่ระดับประเทศและต่างประเทศต่อไป
ดังนั้น เวทีในวันที 24-25 พฤศจิกายนนี้ เป้าหมายคือ ถุงมือยางธรรมชาติต้องกลับมา เราจะหาความจริงมาสู้กับโลก โดยการร่วมมือระหว่าง กยท.และม.อ.
ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะแพทย์ที่ใช้ถุงมือยางธรรมชาติจริง กล่าวว่า ตนเป็นผู้ใช้ที่อยากให้ใช้ยางธรรมชาติมากยิ่งขึ้น จากประสบการณ์ ถุงมือยางสังเคราะห์ ที่เป็นไนไตรล์ ก็มีคนที่แพ้เช่นกัน จึงอยากเปิดมิติใหม่ให้กับวงการยางพาราและวงการแพทย์ของไทย
“ผมยินดีที่ได้เป็นตัวแทนบุคลากรของวงการสาธารณสุขไทย ถ้าหากเราได้เป็นหนึ่งในกระบอกเสียง ว่าจริงๆ แล้วนอกจากที่เราใช้งานเพียงอย่างเดียวแล้วนั้น เรามองไปถึงต้นตอและวัตถุดิบบางอย่างที่สามารถที่จะลดการนำเข้า เพิ่มมูลค่ายางพาราไทย ในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ของไทยได้”
ตนมีประสบการณ์ที่ได้ทำอุปกรณ์รองรับการขับถ่ายจากทวารเทียมจากยางพาราโปรตีนต่ำ จึงเป็นต้นตอที่ได้ทำเรื่องนี้ และค้นคว้า โดยมีทีมนักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์กับคณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. หาสูตรยางที่สามารถใช้ในมนุษย์ได้ คือ ยางพาราโปรตีนต่ำ
“ม.อ.มีองค์ความรู้เยอะ แต่ยังขาดการทดลองต่อท้วยมนุษย์ ที่ผ่านมา 6 ปีที่ผมได้ทดลองเรื่องนี้มาทุกท่านได้ช่วยกันประเมิน จนเจอสูตรยางพาราโปรตีนต่ำขึ้นรูปมาได้” ผศ.นพ.วรวิทย์ กล่าว และว่า
ปัจจุบันยางพาราสังเคราะห์ก็มีคนใช้ ประเด็นคือ เราใช้ยางธรรมชาติ เหมือนกันในบางยี่ห้อ ส่วนใหญ่ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันถุงมือเป็นยี่ห้อของต่างประเทศและนำเข้ามาทั้งหมด และบางครั้งการใช้ถุงมือยางก็มีการแพ้ ตนเป็นศัลยแพทย์ ในหนึ่งสัปดาห์
ต้องเข้าห้องผ่านตัดอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือทุกวันนี้ก็ต้องใช้ถุงมือ บางวันก็ต้องใช้ตลอดเวลา ถุงมือยางธรรมชาติก็ใช้อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นยางไนไตรล์ที่นำเข้ามา
“ผมเป็นคนที่ทำเรื่องยางพาราโปรตีนต่ำ และใช้ยางธรรมชาติ จึงเกิดข้อสงสัยว่า ยางพาราสังเคราะห์ พวกยางไนไตรล์จะมีอาการแพ้หรือไม่ โดยส่วนตัวผมเวลาที่ใช้ถุงมือ และศัลยแพทย์หลายท่าน ที่ได้ใช้ถุงมือใน 10 คน จะมีประมาณ 2 คนที่เกิดอาการระคายเคือง
แพ้ถุงมือ เราก็ไม่ทราบว่าถุงมืนี้มันแพ้มาจากอะไร”
ในฐานะนักวิจัยรุ่นใหม่ อยากที่จะสืบสานว่าในความเป็นจริงยางพาราก็เป็นพืชทางภาคใต้ ม.อ.ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่มีงานวิจัยเรื่องยางพารา เราไม่ได้คิดแค่ว่าเมื่อวิจัยเสร็จ ใช้ได้แล้ว “ไม่พอ” เรามองถึงคนรุ่นใหม่ ที่จะนำงานเหล่านี้ไปต่อยอดและสร้างรายได้ให้ประเทศ ไม่เพียงแค่สร้างทางเศรษฐกิจ แต่ต้องสร้างโครงสร้างทางสังคม สร้างนักวิจัย สร้างคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะมารับงาน ที่เราคิดแล้วนำไปต่อยอดและสร้างประเทศต่อไป
ขณะที่ ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องยางพารา กล่าวว่า ตนกำลังศึกษาข้อมูลการจดสิทธิบัตร สิ่งที่เจอคือ หลังจากที่โควิดระบาด เทคโนโลยีการจดสิทธิบัตรถุงมือยางเพิ่มขึ้น เมื่อ 2 ปีที่แล้วจดน้อยลง หลังโควิด การจดสิทธิบัตรถุงมือยางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือ บริษัทที่จดสิทธิบัตรมากอันดับหนึ่งของโลก เป็นสัญชาติอเมริกา โดยที่ในความเป็นจริง เขาเพิ่งมาสนใจจดสิทธิบัตรยางธรรมชาติ แสดงว่าจริงๆ แล้วเทคโนโลยียางพาราที่เอามาทำเป็นถุงมือแพทย์ ยังมีความต้องการอยู่ โดยเฉพาะถุงมือแพทย์ ถ้าใช้ยางสังเคราะห์ โดยลักษณะเทคโนโลยีของโพลิเมอร์มันไม่เข้ารูป ถุงมือยางธรรมชาติข้อเด่นคือ มันจะรัด เรียกได้ว่า เป็นการยืดหยุ่นที่ดี เมื่อใช้งานก็จะไม่ให้ความรู้สึกเมื่อย
“วันนี้ความต้องการถุงมือเพิ่มมากขึ้นจริงๆ แต่ เป็นยางไนไตรล์มากกว่ายางธรรมชาติ 9-10 เท่า ดังนั้น คำถามคือ ณ วันนี้ ในเส้นทางการผลิตของบริษัทบ้านเรา ที่ตั้งโรงงานถุงมืออยู่ เขาตั้งโรงงานถุงมือขึ้นเพื่ออะไร เพื่อให้ใกล้วัตถุดิบยางธรรมชาติในอดีต แต่ปัจจุบันสามารถเข้าไปดูในโรงงานได้ว่า ผลิตยางสังเคราะห์มากกว่ายางพาราธรรมชาติ
หลังจากโควิด ยางไนไตรล์หมดโลก เพราะทุกคนใช้ทำให้คนหันกลับมาใช้ยางพาราธรรมชาติมากขึ้น เพราะไม่มีวัตถุดิบ หากนักวิจัย นักวิชาการ ไม่ทำอะไรผู้ที่ตีพิมพ์และรายงานเรื่องการแพ้โปรตีนในยาง ก็ยังสามารถที่จะเอารายงานเหล่านี้มาพูดแล้วทำให้คนไม่มั่นใจในวันที่ยางสังเคราะห์มีปริมาณการผลิตมากพอ ยางธรรมชาติก็จะกลับเข้ามาลูปเดิม
“วันนี้เราสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกยางเพียงไม่กี่พันธุ์ ที่ปลูกก็เป็นพันธุ์ที่ให้น้ำยางเยอะ โดยเกษตรกรอยากได้ปริมาณน้ำยางเยอะ แต่วันนี้ถ้าเรารู้ได้ว่าพันธุ์ไหนให้โปรตีนภูมิแพ้น้อย เราก็กำหนดได้ว่า บางแปลงไม่ไปปนกับคนอื่น แต่ให้มูลค่าสูงได้เพราะเป็นยางทางการแพทย์ แทนที่จะปลูกอย่างเดียว เราจะมีสายพันธุ์ที่ระบุ เฉพาะว่ายางตัวไหนที่มีโปรตีนน้อย อนาคตเราอาจจะมีความรู้มากขึ้นว่า คนไทยแพ้โปรตีนตัวไหนมาก ก็จะปลูกที่มีโปรตีนน้อย ปลูกแล้วได้คุณภาพ และมูลค่ามากขึ้น”
วันนี้เรากล้าการันตีว่า “ยางพาราธรรมชาติสามารถใช้กับผิวหนังมนุษย์ได้” เหตุผลคือ งานวิจัยที่ได้นำยางไปแปะไว้ บริเวณที่เพิ่งผ่าตัด ซึ่งอ่อนไหวที่สุด โดยปกติแล้วหากไม่แพ้ ก็ไม่น่าจะมีประเด็นของการแพ้
สิ่งหนึ่งที่เห็นและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วคือ เมื่อตั้งโจทย์นี้มา ก็เกิดปรากฏการณ์ที่ทุกคนพยายามนำความรู้ที่มีมาช่วย คือทุกคนคิดเหมือนกันแต่ไม่มีใครกล้านำ
“ต้องขอบคุณการยางโดยประธานบอร์ดที่ได้ริเริ่ม ตรงนี้ขึ้น จริงๆ แล้วทุกคนมีความคิดในใจเหมือนกัน เมื่อตั้งโจทย์มาทุกคนที่มีองค์ความรู้ ก็จะเข้ามาช่วย” ผศ.ดร.เอกวิภู กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image