‘ยุทธพงศ์’ โต้ ‘สามารถ’ เทียบกันเห็นๆ ราคา BTS สายสีเขียว กับ MRT สายสีน้ำเงิน ใครแพงกว่า

” โจ้ ยุทธพงศ์”  โต้ “สามารถ ราชพลสิทธิ์” เปรียบเทียบราคา BTS (สายสีเขียว) กับ MRT  (สายสีน้ำเงิน) โดยต้องไม่มีต้นทุนค่าก่อสร้าง เพราะ ได้สัมปทานมากว่า 21 ปี วิ่งใน “เส้นไข่แดง” คุ้มทุนค่าก่อสร้างแล้ว  ค่าโดยสารควรถูกลง ยิ่งหากหมดสัมปทานแล้วเปิดประมูลให้เอกชนแข่งขัน ค่าโดยสารจะยิ่งถูกลง อีก แนะครม.ทำตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพประชาชน เพราะถ้าให้เก็บ 65 บาท ไป-กลับ ประชาชนมีภาระวันละถึง 130 บาท ทีเดียว
.
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย  กล่าวถึงกรณี นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม.ออกมาเปรียบเทียบราคาค่าโดยสาร รถไฟฟ้า บีทีเอส   และ รถไฟฟ้า เอ็มอาร์ที ว่า โดยปกติ รถไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ดังนั้นราคาค่าโดยสารจะต้องถูกเพื่อช่วยเหลือประชาชน และจูงใจให้คนเลิกใช้รถส่วนตัว และแก้ปัญหาจราจร ติดขัดแต่เงื่อนไขการสัมปทานใหม่ที่ให้บีทีเอส หรือรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30 ปี  โดยคิดราคาค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท  ขณะที่  รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีหรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของรฟม. เก็บค่าโดยสารไม่เกิน 42 บาท นั้นอยากถามว่าเป็นธรรมแก่รัฐบาล และ ประชาชนหรือไม่  โดยเฉพาะประชาชาชน ที่หาเช้ากินค่ำต้องหมดค่าโดยสารไปกลับเที่ยวละ65  บาทหรือ วันละ130 บาท ขณะที่ค่าแรงวันละ400 บาท เขาจะอยู่ได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังพบว่า ขณะนี้ สัมปทานเดิม บีทีเอสเก็บค่าโดยสารสูงสุด 44 บาท เมื่อวิ่งเกิน 8 สถานีขึ้นไป โดยราคา 23 บาท วิ่งได้เพียง2 สถานี ขณะที่  เอ็มอาร์ที เก็บค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท โดยวิ่ง 11-12 สถานีขึ้นไป โดยราคา 23 บาท วิ่งได้ถึง4 สถานี  จึงทำให้เห็นว่า ราคาของบีทีเอสในวันนี้แพงกว่า

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่าที่ผ่านมาบีทีเอส ที่ได้สัมปทานเดิมในเส้น 23 .5 กม. คือช่วงหมอชิต- อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน  ถือเป็นเส้นไข่แดงมา21 ปีแล้ว นั้นคืนทุนไปหมดแล้ว ไม่ควรคิดราคาแพง   ดังนั้นจึงขอเรียกร้อง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เอาข้อมูลตัวเลขค่าโดยสารมาเปิดให้สาธารณชนรับทราบ จะได้รับรู้ข้อเท็จจริง

“อยากให้มีการเปิดประมูลใหม่ ตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562     เพื่อให้เกิดการแข่งขันเพื่อรัฐและประชาชนจะได้ประโยชน์   และ รัฐบาลไม่ควรเลือกใช้สัมปทานให้บีทีเอส ไปอีก 30 ปี โดยอาศัยมาตรา44   โดยไม่มีการแข่งขันเพียงเพราะแลกกับหนี้ของกทม.เพียง4.5 หมื่นล้านบาท”

Advertisement

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ในฐานะ ส.ส. จะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และ จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การเร่งรีบผลักดันเรื่องนี้ต่อการประชุมครม.ในเร็วๆนี้  คงไม่ผ่านไปง่ายๆ โดยเฉพาะข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคมจำนวน 4 ข้อ โดยเฉพาะการคิดราคา65 บาท ตลอดสายเป็นเงื่อนไขสัมปทานใหม่ของบีทีเอสเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ เพราะ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของรฟม.เก็บไม่เกิน 42 บาทตลอดสาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image