“สมคิด”เยือนอิหร่าน ขายข้าวได้แล้ว 3 แสนตัน 4.3 พันล้าน บรรลุข้อตกลงความร่วมมือ 7 ฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่านว่า ในการเยือนประเทศอิหร่านของรัฐบาลไทย นำทีมโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีโอกาสได้พบปะหารือกับนายโมฮัมเหม็ด ชาเรียตมาดารี รองประธานาธิบดีอิหร่านฝ่ายบริหาร

นายสมคิด ให้สัมภาษณ์ว่า การหารือกับรองประธานาธิบดีอิหร่าน ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า อิหร่านเป็นแหล่งพลังงานที่มั่นคง ขณะที่ไทยสมบูรณ์ด้านอาหาร ซึ่งจะเสริมกันได้ รวมถึงอิหร่านเป็นประตู่สู่กลุ่มประเทศ CIS (กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช) และไทยเป็นประตูสู่อาเซียน ซึ่งโลกยุคหน้าจะเชื่อมระดับศูนย์กลางภูมิภาค(ฮับรีเจอนัล) ซึ่งจะเชื่อมโยงกันทั้งการค้า ลงทุน การท่องเที่ยว โดยฝ่ายอิหร่านได้ขอให้การบินไทยเพิ่มเที่ยวบินมาอิหร่านด้วย

“การเยือนครั้งนี้ ถือเป็นจังหวะที่ถูกต้อง เพราะอิหร่านกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก ก่อนหน้านี้จีนได้นำคณะรัฐบาลจีนและเอกชนเดินทางมาอิหร่าน 600 คน ขณะที่ไทยนำมา 100 คน และในเดือนมีนาคมนี้ญี่ปุ่นจะนำคณะรัฐบาลราว 400 คนมาเยือนอิหร่าน ดังนั้น การมาเยือนครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ และหวังว่าจะส่งผลดีต่อการทำการค้าในระยะยาวต่อไป เป็นประเทศหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ”

นายสมคิด กล่าวอีกว่า การมาเยือนครั้งนี้มีการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอิหร่านด้วย และบรรลุข้อตกลงพิธีลงนามระหว่างกันรวม 7 ฉบับ อาทิ 1.ความตกลงทางการค้าระหว่างราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณะรัฐอิสลามอิหร่าน 2.หนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนความรู้และบุคลากรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุและวัคซีน ระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับสถาบันพาสเตอร์แห่งประเทศอิหร่าน 3.ความตกลงความร่วมมือด้านนาโนเทคโนโลยี ระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับสภาพัฒนานาโนเทคโนโลยีแห่งชาติอิหร่าน 4.หนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือระหว่างบริษัทซินนาเจนแห่งสาธาณรัฐอิสลามอิหร่าน และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ราชอาณาจักรไทย 5.หนังสือแสดงเจตจำนงแสดงความร่วมมือด้านมาตราฐานระหว่างสถาบันวิจัย เพื่อการมาตราฐานแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านและสำนักงานมาตรฐาน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมคิดและคณะได้ร่วมงานบิสซิเนสฟอร์รั่ม โดยนายสมคิดได้กล่าวกับนักธุรกิจไทยและอิหร่านราว 300 คนที่เข้าร่วมงานว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.5% ดีกว่าปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 2.9% ซึ่งไทยกำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางด้านการขนส่งไปยังประเทศในอาเซียนที่จะเชื่อมต่อไปยังจีนและอินเดียได้ โดยตลาดกลุ่มประเทศเหล่านี้มีมูลค่าสูง ทางอิหร่านจึงมองไทยเป็นประตูสู่อาเซียน ขณะที่อิหร่านเป็นประตูการค้าของกลุ่มประเทศ CIS ที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน ที่ไทยสามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันอิหร่านกับไทยยังสนใจที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าพลังงานและอาหารระหว่างกัน ทำให้เชื่อว่า หลังจากนี้ไปการค้าไทยกับอิหร่านจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าตัว หรือมีมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่มีมูลค่าเพียง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 5 ปี

และวันเดียวกัน (2 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่น) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ซื้อข้าวไทยรวม 4 ฉบับ ปริมาณ 3 แสนตันระหว่างบริษัทเอกชนไทยและบริษัทเอกชนของอิหร่าน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท หรือประมาณ 119.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนายสมคิดเป็นสันขีพยานการลงนามดังกล่าว ซึ่งแบ่งเป็น เอ็มโอยูฉบับที่ 1 การตกลงซื้อขายข้าวขาว 100% เกรดบี ข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว ระหว่างบริษัทพงษ์ลาภ และบริษัท TOSE-EH Farda Investment Management Company รวม 1 แสนตัน ฉบับที่ 2 การตกลงซื้อขายข้าวขาว 100% เกรดบี ระหว่างบริษัทแคปปิตัล ซีเรียลส และบริษัท Parnian Imen Tejarat Giti จํานวน 1 แสนตัน

ฉบับที่ 3 การตกลงซื้อขายข้าวขาว 100% เกรดบี ระหว่างบริษัทเอเชียโกลเด้นไรซ์ และบริษัท Para Tejarat Pyamid (PTP) จํานวน 5 หมื่นตัน ฉบับที่ 4 การตกลงซื้อขายข้าวขาว 100% และยางพาราธรรมชาติ จำนวน 1 ฉบับ รวมมูลค่า 144.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์มีมูลค่าการสั่งซื้อสินค้าไทยการจับคู่เจรจาไม่ต่ำกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1000 ล้านบาท จากปัจจุบันไทยและอิหร่านมีมูลค่าการค้ารวมกันอยู่ที่ 309 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกได้ 217.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่านำเข้า 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้ามูลค่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีไทย-อิหร่าน ได้ตกลงความร่วมมือการค้าระหว่างประเทศ โดยจะจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเจรจาการค้า และจะร่วมประชุมครั้งแรกในไทย นอกจากนี้ อิหร่านพิจารณานำเข้าไก่และผลไม้สดจากไทย เช่น กล้วย และเอกชนได้ตกลงจะซื้อขายข้าวระหว่างกัน 3 แสนตัน และยางอีก 2 หมื่นตัน มูลค่ารวม 5,200 ล้านบาท

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อิหร่านสนใจจะเข้ามาลงทุนใน 10 คลัสเตอร์เป้าหมายอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และจับคู่ธุรกิจการค้าระหว่างเอสเอ็มอีไทยและอิหร่าน รวมทั้งสนใจการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบเหมืองแร่และทองคำ การผลิตเครื่องประดับและความร่วมมือด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม และร่วมทุนในสินค้าฮาลาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image