อินฟราฟัน : 5 สัญญาไฮสปีดไทย-จีน

อินฟราฟัน : 5 สัญญาไฮสปีดไทย-จีน อีกหนึ่งโครงการที่ถูกจับตามอง

อินฟราฟัน : 5 สัญญาไฮสปีดไทย-จีน

อีกหนึ่งโครงการที่ถูกจับตามอง สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีงานโยธา จำนวน 14 สัญญา กรอบวงเงิน 117,914.08 ล้านบาท ที่เริ่มก่อสร้างแล้ว 2 สัญญา

และเตรียมลงนามในสัญญาอีก 5 สัญญา ในวันที่ 25 พฤศจิกายน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เซ็นสัญญาโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่ง 5 สัญญา มีมูลค่า 40,275 ล้านบาท มี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนาม ประกอบด้วย

1.สัญญา 3-2 อุโมงค์มวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร (กม.) มี บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) 4,279 ล้านบาท

Advertisement

2.สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.6 กม. มี บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ก่อสร้าง จำกัด 9,838 ล้านบาท

3.สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. มี บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) ก่อสร้าง 9,848 ล้านบาท

4.สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ก่อสร้าง 7,750 ล้านบาท

Advertisement

และ 5.สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. มี บริษัท ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ก่อสร้าง 8,560 ล้านบาท

หากการเซ็นสัญญาผ่านไปได้ตามวันเวลาที่กำหนด จะส่งผลให้เกิดความคืบหน้าด้านการก่อสร้างเพิ่มอีกหลายระยะทาง ถือว่าระยะที่ 1 ได้เดินทางมาครึ่งทางแล้ว หลังจากนี้ ประชาชนและทุกภาคส่วนจะได้เห็นภาพโครงการที่ชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย โดยความคืบหน้าล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา มีระยะทาง 253 กม. ลงทุนรวม 179,412 ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 สัญญา คือ ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ความคืบหน้า 42%

อีกทั้งเส้นทางนี้ จะเป็นเส้นทางช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐและเชื่อมต่อเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ลาวและจีน เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปได้ ด้วยทางรถไฟ เมื่อโครงการนี้ก่อสร้างเสร็จสิ้น คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2568 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางไทย ที่จะคิดเป็นมูลค่าเพิ่มในประเทศ 21,600 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานอีกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี

ลุ้นต่อไปว่าคนไทยจะได้นั่งรถไฟทางไกลตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้หรือไม่ต่อไป!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image