‘สืบศักดิ์’ ให้คะแนน กสทช. 9 เต็ม 10 แนะชุดใหม่ ทำงานเชิงรุก-ให้เทคโนโลยีดิจิทัลนำทาง

กสทช.
สืบศักดิ์ สืบภักดี

‘สืบศักดิ์’ ให้คะแนน กสทช. 9 เต็ม 10 แนะชุดใหม่ ทำงานเชิงรุก-ให้เทคโนโลยีดิจิทัลนำทาง

เมื่อเวลา 10.05 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานสัมมนา “7 เสือที่อยากเห็น กสทช. ชุดใหม่-เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย”

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) เปิดเผยว่า สิ่งที่เรากำลังพูดถึงคือการวางกลยุทธ์ของชาติ อยากเห็นอนาคตของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดี ดังนั้น การเลือกกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ จึงมีความคาดหวังอย่างมากจากหลายภาคส่วน ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้สมัครกรรมการ กสทช. ทั้ง 80 คน กำลังเฝ้าติดตามอยู่ ก็หวังว่า ผู้ที่เป็นว่าที่ กรรมการ กสทช. จะรับฟังความคิดเห็นของเรา

นายสืบศักดิ์กล่าวว่า ในอดีตเราอาจจะมีการคาดหวังการทำงานของ กสทช. โดยเฉพาะ กสทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งได้รับการต่ออายุ เราต้องมองว่าบริบทของประเทศ บริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หรือแม้แต่เราที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ลองนึกถึงสภาพของ กสทช. ชุดนี้ที่อยู่ในตำแหน่งมาเกือบ 9 ปี ซึ่งในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา เราผ่านอะไรกันมาเยอะมาก โดยความเป็นจริง กสทช. อาจไม่มีโอกาสได้ทำในหลายเรื่อง ซึ่งมีความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ตัวอย่าง กสทช. ชุดปัจจุบัน เข้ามาในช่วงที่เราต้องการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอย่างมาก โทรศัพท์มือถือในยุคที่ กสทช. เข้ามา รองรับระบบ 3G แล้ว แต่ในบ้านเรายังไม่สามารถใช้งานได้ เพราะยังไม่มีคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ให้บริการ ทำให้ประเทศเสียโอกาสในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ เราเข้าสู่ตลาด 3G ช้ากว่าประเทศอื่นในโลกประมาณ 10-12 ปี ถือว่าเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงมาก และเป็นเรื่องที่ กสทช. ต้องแก้ไขปัญหา โดยภารกิจของ กสทช. ชุดปัจจุบัน คือ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ อย่างรวดเร็ว ทำให้เราสามารถเข้าสู่ตลาด 3G จากนั้นจึงพัฒนาสู่ระบบ 4G และ 5G

Advertisement

แต่ทั้งหมดนี้มองว่า ภารกิจของกรรมการ กสทช. ไม่ได้มีแค่เรื่องการประมูลคลื่นความถี่ ยังมีภารกิจในหลายเรื่อง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม กิจการโทรทัศน์ ซึ่งตลอดระยะเวลา 20-40 ปี เรามีจำนวนช่องโทรทัศน์ไม่มาก กรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบัน ก็เป็นผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล จากการจัดการประมูลใบอนุญาต รวมถึงการวางแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี และบริบทบางอย่างที่ยังติดขัดให้สามารถดำเนินการได้

ถ้าให้คะแนนกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน สอบผ่านจนเกือบได้คะแนนเต็มโดยอยู่ที่ 8-9 คะแนน เต็ม 10 คะแนน แต่ภารกิจส่วนใหญ่ของ กสทช. ชุดปัจจุบัน เป็นลักษณะของการตามแก้ปัญหา คือวิ่งตามปัญหา ตัวอย่าง ตั้งแต่เริ่มเข้ามามีปัญหาที่ค้างคาอยู่ กสทช. ชุดนี้เข้ามาทำให้ปัญหาทะลุไป ตลอดระยะเวลาการดำเนินการ กฎระเบียบหลายตัวไม่ได้สอบรับกับเทคโนโลยี แต่สิ่งที่ กสทช. พยายามทำคือ พยายามปรับกฎระเบียบเหล่านั้นให้สามารถรองรับเทคโนโลยีได้ ปรับปรุงความถี่ แต่กฎระเบียบบางอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพราะพระราชบัญญติ (พ.ร.บ.) หลักเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นพ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม ปี 2498 แต่ถามว่าการเปลี่ยน พ.ร.บ. เป็นเรื่องใหญ่หรือไม่ แต่เทคโนโลยีบางอย่างไปไกล และไปเร็วกว่ายุค 2498 อยู่เยอะ สิ่งที่ทำได้คือมีการปรับแก้ในส่วนที่ติดขัด เพื่อทำให้ประเทศสามารถเดินต่อไปได้ ฉะนั้น ถือว่าการแก้ไขปัญหาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำ

แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือสิ่งที่เราคาดหวัง คือ กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ เข้ามาจะไม่ใช่ชุดที่เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา หากมองว่า ปัญหามี 100% กสทช. ชุดปัจจุบันสามารถแก้ไขไปได้ 70-80% แต่การแก้ไขเป็นแบบไม่ยั่งยืน เช่น ระเบียบอย่างอย่างเป็นการแก้เพื่อเอาตัวรอด ขัดตาทัพเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ก่อน หรือในเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งจัดการประมูลใน กสทช. ชุดนี้ จำนวนมาก ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 700, 800, 900, 1800, 2100, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ แต่ยังมีคลื่นความถี่ที่ยังรอการจัดสรรอยู่ ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 800, 900, 2300 และ 3500 เมกะเฮิรตซ์ หรือแม้แต่คลื่นความถี่ย่านสูง และนอกจากนี้ยังมีคลื่นความถี่ที่เรียกคืนมาจากรัฐวิสาหกิจในปี 2568

“สำหรับกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ อยากเห็น กสทช. ที่มีความคิดกว้างไกล เช่นในยุคของ 5G เราเรียกชุดของคลื่นความถี่ที่นำมาใช้ว่า นิวเรดิโอ ดังนั้น กรรมการ กสทช. ชุดใหม่ต้องมีนิววิชั่น สำหรับประเทศไทยที่เข้ามาและไม่ได้แค่ตามแก้ไขปัญหา แต่เข้ามาสามารถมองภาพไปถึงอนาคตได้ชัดเจนว่า เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีสื่อสาร โทรคมนาคม อะไรบ้างที่จะเป็นโครสร้างหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และทำเรื่องเหล่านั้นออกมาเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เชิงรุก ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เข้ามารองรับคลื่นความถี่อื่นๆ แล้วจึงค่อยเปิดรับฟังความคิดเห็น ไปแก้กฎเกณฑ์เพื่อให้รองรับ แต่จริงๆ ต้องมองไปข้างหน้าว่า 5-10 ปีจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อะไรที่ยังเป็นข้อติดขัดของกฎระเบียบเรื่องการสื่อสารโทรคมนาคม การทำธุรกิจ รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศ และทำสิ่งเหล่านั้นให้ออกมา เพื่อให้เห็นว่าองค์กรกำกับดูแลของประเทศไทยมีความคิดเชิงรุก” นายสืบศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image