เสวนา 7 เสือ กสทช. เดือด ‘สุชัชวีร์’ ชี้ วิกฤตการแข่งขัน ทางรอดประเทศต้องเพิ่มคุณภาพทุนมนุษย์

กสทช.
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

เสวนา 7 เสือ กสทช. เดือด ‘สุชัชวีร์’ ชี้ วิกฤตการแข่งขัน ทางรอดประเทศต้องเพิ่มคุณภาพทุนมนุษย์

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุม หนังสือพิมพ์ข่าวสด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้จัดงาน สัมมนา “7 เสือที่อยากเห็น กสทช. ชุดใหม่-เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) และศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เข้าร่วม

โดยศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มเป็นประเทศที่แข่งขันกับใครไม่ได้ ที่ผ่านมา ตนสวมหมวก 2 ใบ คือ ประธานอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งรับเด็กเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยด้วยระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบ แต่สิ่งที่ค้นพบและน่าตกใจคือ การรับเด็กผ่านระบบทีแคสปี 2561 มีคนเข้าระบบ 4 แสนคน ทั้งที่มหาวิทยาลัยไทยกว่า 200 แห่งรับเด็กได้กว่า 4 ล้านคน ปี62 เหลือ 3แสน ปี 63 เหลือไม่ถึง 2 แสนคน แสดงว่าทุนมนุษย์ไม่มีแล้ว เหลือเพียงอย่างเดียวที่จะสู้กับประเทศอื่นได้ คือคุณภาพ ดังนั้น พลานุภาพของประเทศตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณภาพ เป็นทางรอดที่ประเทศจะสามารถแข่งขันได้ ดังนั้นตอนนี้ต้องคิดอย่างเดียวจะทำอย่างไรประเทศจะมีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ กลไกลหนึ่ง ที่จะเข้ามาช่วยคือ กสทช.

Advertisement

“7 เสือ ที่จริงต้องเรียกว่า 7 เทพ ถ้ายังสรรหาคนที่มาเป็นผู้ควบคุม ประเทศไทยจบ แต่ต้องหาคนที่มาเป็นดีไซเนอร์ ผู้ออกแบบ ว่า ในอนาคตเทคโนโลยีอะไรที่จะมาเติมให้คนไทยมีคุณภาพมากขึ้น จะใช้กฎหมายใดในการออกแบบประเทศให้มีคุณภาพ และจะทำอย่างไร ให้สื่อสารมวลชนผลิตเนื้อหาที่คนอยากดู และขอเรื่องหนึ่งคือ ที่บอกว่า ประเทศไทยมีอินเตอร์เน็ตเข้าได้ ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่การทำอย่างไรที่เข้าถึงได้แล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุนมนุษย์ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพ ก่อให้เกิดมิติใหม่ทางด้านนวัตกรรม” ศ.ดร.สุชัชวีร์

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า แต่ละคนอยากเห็น 7 เสือที่แตกต่างกัน หน้าที่หลักของกสทช.เป็นบทบาทหนึ่งที่ต้องทำ แต่ความคาดหวัง กสทช. ในการเข้ามาช่วยพัฒนาด้านต่าง ๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรทำควบคู่ไป เชื่อว่า แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่ดีที่สุด มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต ขณะที่อาจารย์มีหน้าที่สอน แต่สังคมคาดหวังอยากเห็นอาจารย์ออกไปช่วยชุมชุน พัฒนาเรื่องธุรกิจเอสเอ็มอี ทุกคนอยากเห็นมหาวิทยาลัยทำมากกว่า การเป็นมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกัน คนคาดหวังกสทช. ทำอะไรที่มากกว่า การดูแลโทรคมนาคม ยกตัวอย่างเช่น ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหารือกับ กสทช. เป็นที่แรกในการเข้าไปช่วยดูระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีความสะดวกคล่องตัว รวมถึงช่วยเหลือเรื่องอื่น ๆ ในอนาคต ขอย้ำว่า บทบาทหน้าที่หลัก ของกสทช. ที่ต้องทำมีความสำคัญ แต่บทบาทอื่นก็ต้องเดินหน้าควบคู่ไปด้วย โดยบทบาทของกสทช.ในฐานะนักออกแบบอนาคตประเทศไทยต้องมีดังนี้ 1.กสทช.ต้องมีคนที่เก่งที่สุดในโลก เป็นหน่วยงานที่ต้องดึงดูดคนเก่ง เพื่อดูว่าต้องทำอะไรได้บ้าง นอกจากงานในหน้าที่ตามกรอบที่มี 2.ต้องตั้งเป้า ทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น วิสัยทัศน์ที่จะสัมภาษณ์ 7 เสือ ขอให้ถามเรื่อง สถานการณ์ในต่างประเทศด้วย 3. เป็นเรื่องที่สำคัญมาก กสทช.ชุดนี้ต้องมีกุศโลบาย ต้องมีลีลาในการเจรจาให้เกิดดอกผลใหม่ ๆ กับหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับภาคเอกชน ที่เข้ามาช่วยทำงาน และข้อ 4 ต้องส่งเสียงถึงรัฐบาลและสภา ว่า กฎหมายใดที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความล้าหลัง เพื่อให้เกิดการแก้ไข สามารถพัฒนาให้ประเทศสามารถแข่งขันได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image