‘กสิกร’ ชี้ ‘กสทช.’ ชุดใหม่ เอื้อผู้เล่นทุกรายแข่งขันเท่าเทียม ป้องทุนใหญ่ผูกขาด

‘กสิกร’ ชี้ ‘กสทช.’ ชุดใหม่ เอื้อผู้เล่นทุกรายแข่งขันเท่าเทียม ป้องทุนใหญ่ผูกขาด

เมื่อเวลา 10.25 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานสัมมนา “7 เสือที่อยากเห็น กสทช. ชุดใหม่-เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย”
นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การมีกสทช. มองว่าดีกว่าไม่มี เพราะ 10 ปีแรกของกสทช. มีการเปลี่ยนผ่านระบบจากการทำสัมปทาน เป็นระบบใบอนุญาต ซึ่งหากไม่มีกสทช. ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ จะเป็นแคท และทีโอที จึงมองว่ามีดีกว่าไม่มี โดยส่วนตัวเชื่อมันในระบบมากกว่าตัวบุคคล เนื่องจากมองว่าคน 7 คน ไม่สามารถผลักดันสิ่งที่ควรทำทั้งหมดได้ รวมถึงความสำคัญในขณะนี้ นอกจากคุณสมบัติแล้วคือ ทัศนคติที่ต้องมี เนื่องจากคน 7 คนที่จะเข้ามา ต้องมีการแต่งตั้งที่ปรึกษา เพื่อเข้ามาช่วยในการทำงานแน่นอน เพราะไม่มีทางที่ทั้ง 7 คนจะสามารถรู้ได้ทุกอย่าง และสามารถผลักดันเรื่องเหล่านี้ไปได้ ทำให้การตั้งที่ปรึกษา หากมีประสิทธิภาพจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยในระยะถัดไป อยากมองกสทช.เป็นสถาบัน เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือแบบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่แน่นอนว่าธปท. เกิดมาหลายสิบปี ส่วนกสทช.เกิดมาเพียง 10 จึงต้องให้เวลาเพิ่ม เพราะความจริงแล้วสำนักงานกสทช. มีบุคลากรที่มีความรู้สูงมาก มีการให้ทุนศึกษต่างประเทศ เพื่อไปเรียนรู้เทคโนโลยีและนำมาปรับใช้ในประเทศ ซึ่งต้องให้เวลาในการทำงานต่อไป โดยจะเห็นว่าในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีการทำวิจัย ออกบทความออกมามากขึ้น จึงถือว่าการทำงานค่อนข้างไปได้ดี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับผลสอบ มองว่าสอบผ่าน แต่ยังไม่สามารถทำคะแนนได้ดีนัก

นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า มองไปข้างหน้า อยากเห็นกสทช.ให้ความสำคัญกับกลไกของตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจและประเทศเดินหน้าไปได้ ไม่อยากเห็นการกำกับดูแลที่โน้มเอียง ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาดในหลายๆ ธุรกิจที่เริ่มเห็นในแวดวงนอกธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเชื่อในระบบทุนนิยมแต่ทุนนิยมมีจุดอ่อน คือ หากปล่อยให้ระบบทุนนิยมทำงาน โดยไม่เข้าไปดูแล ทุนจะเอาเปรียบเพื่อเติบโต กสทช.จึงมีหน้าที่ในการเข้าไปดูแลว่า สภาพในการแข่งขันแต่ละเชกเมนมต์มีความสมบูรณ์หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่หรือตลาดที่ไม่เห็นประโยชน์ ซึ่งผู้ประกอบการจะไม่เข้าไปลงทุน เพราะหากทุนลงทุน 1 บาท จะต้องได้กลับมามากกว่า 1 บาท อาทิ พื้นที่ห่างไกล คนยากคน ผู้ที่ไม่มีโอกาส กสทช.จึงต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น เพราะกสทช. ทำอยู่แล้ว แต่อยากให้ทำมากกว่านี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น รวมถึงในภาคธุรกิจ ในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กสทช. จะต้องช่วยเหลือในการอัพเกรดเทคโนโลยี เพราะบริษัทใหญ่สามารถไปได้แน่ๆ แต่ในส่วนของเอสเอ็มอียังต้องประเมินว่าเงินทุนจะพอหรือไม่ ความรู้จะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะต้องได้รับความช่วยเหลือ เนื่องจากมองว่า หากทุนใหญ่ก้าวหน้าอย่างเดียว แต่ทุนกลางและทุนเล็กไม่ก้าวตาม ประเทศจะไม่แข็งแรง เพราะไม่เกิดการแข่งขัน ทำให้สุดท้ายในอนาคตทุนใหญ่จะเข้ามาเอาเปรียบผู้บริโภค โดยหากมองไปข้างหน้า อยากเห็นกลไกตลาดที่ทำงานดีกว่านี้ อยากเห็นการนำทรัพยากรที่มีกระจายออกต่างจังหวัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสให้คนต่างจังหวัดมากขึ้น

“ตลาดทุนเป็นตลาด ทำให้กลไกตลาดมีความสำคัญ กสทช.จึงต้องใช้กลไกตลาดเป็นตัวนำ และทำให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการต่างๆ โดยต้องกำกับดูแลในเชิงปริมาณของผู้เล่นในตลาดแต่ละเซกเมนต์ให้มีความเหมาะสม อาทิ อัตราค่าบริการจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค สุดท้ายขณะนี้มีเวทีใหม่ ซึ่งกสทช.ยังเข้าไปกำกับดูแลไม่ถึง คือ แพลตฟอร์มออลไลน์ ซึ่งหากเทียบเป็นสื่อใหม่ จะเห็นว่าสื่อเก่าเสียเปรียบออนไลน์ที่เป็นสื่อใหม่ เพราะสื่อเก่าถูกควบคุม แต่สื่อใหม่แทบไม่ได้มีกาาควบคุม ทำให้เป็นการแข่งขันคนละกติกา การใช้เงินทุนลงทุนต่างกัน จึงต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น” นายพิสุทธิ์ กล่าว

Advertisement

นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า กสทช. หากมาเร็วจะดีกว่ามาช้า เพราะหากมาช้าไป จะทำให้การเดินหน้าทำได้ยาก โดยย้ำว่าระบบสำคัญกว่าคน ซึ่งโครงสร้างของกสทช.ถูกปรับจากความคิดแรก ที่ต้องการเห็นเป็นองค์กรอิสระ ไม่อิงกับการเมือง แต่กสทช.โครงสร้างชุดใหม่ ยึดโยงอยู่กับการเมือง เพราะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ความสำคัญขึ้นไปอยู่กับภาครัฐ เพราะรัฐขยายตัวและดึงอำนาจขึ้นไปอยู่กับตัวเอง โดยในช่วงที่ผ่านมา มีการถกเถียงกันว่า การเมืองไทยไม่นิ่ง มีรัฐบาลผสม ทำให้ไม่มีความแข็งแรง แต่ขณะนี้เรามีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพแล้ว อยู่มานาน แม้จะยังมีความผสมอยู่ แต่ไม่เท่าในอดีต จึงมองว่าควรใช้โอกาสนี้ในการผลักดันนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เพราะกสทช.เป็นหน่วยงานที่เป็นเครื่องมือในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านโทรคมนาคม เพื่อกำกับดูแลผู้เล่นในตลาดให้มีประสิทธิภาพ

นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า รัฐต้องส่งเสริมการนำความรู้ เทคโนโลยี และการดึงคนเก่งๆ เข้ามาอยู่ในประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ที่มีการดึงคนเก่งๆ เข้ามาทำงานในประเทศ ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อให้ได้คนเก่งๆ เข้ามาอยู่ในประเทศ เพราะเชื่อว่าหากมีคนเก่งเข้ามาทำงานในประเทศ ก็จะได้เรียนรู้จากคนเก่งๆ ต่อให้เป็นคนต่างชาติก็ตาม แตกต่างจากประเทศไทย ที่มองว่าหากไม่ใช่คนไทยก็ไม่ได้ ต้องเป็นคนไทยทำและใช้เองเท่านั้น ซึ่งหากเป็นแบบนี้ เราจะก้าวไปข้างหน้าได้ช้าและไม่ทันโลก แต่หากนำคนที่สามารถทำได้ เคยประสบความสำเร็จ หรืออยู่ในองค์กรเฉพาะที่มีศักยภาพระดับโลก ดึงตัวเข้ามาอยู่ในประเทศ ผ่านการให้แรงจูงใจ เพื่อให้ช่วยถ่ายโอนความรู้ให้กับคนในประเทศไทย จะมีความเร็วกว่ามาก โดยมองว่าการดึงคนเก่งจากองค์กรต่างชาติเข้ามา มีราคาค่อนข้างแพง ทำให้หากมีการร่วมมือกันระหว่างองค์กรในประเทศที่มีความสามารถแทน อาทิ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ร่วมมือกันในการเวิร์คช้อป เพื่อแบ่งความรู้ ลงลึกไปสู่วิธีปฏิบัติ จะทำได้ง่ายแลเมีประสิทธิภาพกว่าการต่างคนต่างทำ โดยมองว่ากสทช.เป็นจุดเล็กๆ ในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ทุกส่วนต้องร่วมมือกัน

“นักลงทุนไม่ชอบอะไรที่ไม่แน่นอน ทำให้หากมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น จะใส่การลดราคาเข้าไปทันที เพื่อจะนำเงินออก เพราะหากประเมินจากนักลงทุนไทย ส่วนหนึ่งนำเงินไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศล้ว ทำให้หากต้องการแบ่งเงินทุนเหล่านั้นกลับมา จะต้องทำให้มากกว่านี้” นายพิสุทธิ์ กล่าว

Advertisement

นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า หากกสทช.มาช้ากว่าที่ควร จะส่งผลกระทบรุนแรง 2 เรื่อง ได้แก่ 1.สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ที่จะหมดสัญญาในปี 2564 ซึ่งสำนักงานกสทช.อยู่ในระหว่างการร่างวิธีการจัดสรรวงโคจร ทำให้หากร่างเสร็จแล้ว แต่กรรมการตัวจริงยังไม่มา จะเกิดอะไรขึ้น กรรมการที่รักษาการอยู่จะกล้ารับร่างหรือไม่ โดยหากไม่มีการให้ใบอนุญาตดาวเทียมดวงใหม่ เพื่อสร้างดาวเทียมขึ้นไปใหม่ และถ่ายโอนลูกค้าจากดาวเทียมเก่าสู่ดาวเทียมใหม่ จะสร้างความเสียหายในเชิงธุรกิจ ซึ่งส่วนนี้เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ และ 2.ตลาด 5จี มีผู้เล่นเพียง 2 ราย ได้แก่ ทรูและแอดวานซ์ ที่มีคลื่น 2,600 เมกะเฮิรตซ์ ไม่นับดีแทค เพราะไม่ได้ประมูลคลื่นดังกล่าวไป แต่ดีแทคมีคลื่น 2,300 เมกะเฮิรตซ์ ที่สามารถใช้ทำ 5จี ได้เช่นกัน จึงมอง่ากสทช.น่าจะเข้าไปช่วยเปิดโอกาสให้ดีแทคเข้าสู่ตลาด 5จี เพื่อให้มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากหากมี 2 รายในการทำ 5จี จะมีการแย่งลูกค้ากันไปมา และการรักษาฐานลูกค้าไว้ ทำให้เกิดการทำสงครามการลดราคาขึ้น ซึ่งก็มีทั้งดีและไม่ดี โดยมองว่า ต้องทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือก และผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ โดยหากทุกอย่างไม่เป็นตามที่ประเมินไว้ จะส่งผลกระทบต่อหุ้นโทรคมนาคมให้ปรับราคาลงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image