ส่อง ‘แฮปปี้ โมเดล’ ฟื้นศก.ฐานราก

ส่อง ‘แฮปปี้ โมเดล’ ฟื้นศก.ฐานราก

การสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศประจำปี 2563 และเป็นการจัดงานครั้งที่ 38 ช่วงวันที่ 26-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นเวทีแห่งการระดมหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลยังคุมเข้มต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส นำไปสู่ข้อสรุปว่าไทยจะปรับตัวในยุควิถีนิวนอร์มอลและหลังโควิด-19 ผ่านไป เสนอรัฐบาลใน 5 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ

“ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วย Happy Model (แฮปปี้ โมเดล) : โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข” เน้นการขับเคลื่อนโมเดล ผ่าน 5 เรื่อง ได้แก่

1.สร้างความเข้าใจในการใช้คำจำกัดความของเวลเนส (Wellness) 4 ด้าน คือกินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดีๆ โดยหอการค้าไทยร่วมกำหนดคำนิยามของ แฮปปี้ โมเดล เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสื่อสารไปในทิศทางเดียวกันทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชน เริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด พร้อมกับการจัดทำแมปปิ้ง ข้อมูลของแต่ละจังหวัดภายใต้แนวคิด แฮปปี้ โมเดล เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของพื้นที่

2.กำหนดแนวทาง พร้อมผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงในพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามกรอบและแนวทางในการดำเนินโครงการ หอการค้าไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดทำแผนแม่บท หรือมาสเตอร์ แพลน (Master Plan) เพื่อกำหนดแนวทางหรือมาตรฐานในการนำแนวคิด แฮปปี้ โมเดล ทั้ง 4 ด้านไปใช้ และผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงในพื้นที่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน แฮปปี้ โมเดล ในระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย ภายใต้กลไก คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จังหวัด กรอ.กลุ่มจังหวัด และบรรจุแผนงานโครงการและงบประมาณภายใต้ คณะกรรมการระดับจังหวัด (กบจ.) และคณะกรรมการระดับภาค (กบภ.)

Advertisement

3.ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม โดยหอการค้าไทยร่วมมือกับเครือข่าย ในการจัดให้มีหลักสูตรอบรม (Short Course) ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม (Re-Skill, Up-Skill) ในการให้ข้อมูลหรือการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับคณะกรรมการระดับของพื้นที่ตนเอง อาทิ มัคคุเทศก์ พนักงานบริการ และอื่นๆ อีกทั้งจัดทำและต่อยอด มาตรฐานเดิมที่มีอยู่ ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อน คณะกรรมการระดับ

4.รวบรวมเนื้อหา เชื่อมโยง ดิจิทัล แพลตฟอร์ม โดยสร้างเรื่องราวสร้างสรรค์ เกี่ยวกับคณะกรรมการระดับ เพื่อนำไปสื่อสารและประชาสัมพันธ์สู่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการคัดเลือก ซัคเซส เคส แฮปปี้ โมเดล (Success Case Happy Model) ทั้ง 4 ด้าน มาสร้างเนื้อหา

5.ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล (Digital Platform) เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยง แพลตฟอร์ม ระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น แอพพลิเคชั่น ทักทาย (Application TAGTHAi) เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและสื่อสารที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า แฮปปี้โมเดลจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น 4 ด้านด้วยการ 1.กินดี อาหาร อร่อย สะอาด มีประโยชน์ อาหารของท้องถิ่นและสมุนไพร มีประโยชน์ ปลอดสารพิษ

2.อยู่ดี ที่พักได้มาตรฐาน ดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยะน้ำเสียและสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมไวไฟ กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพกายและใจ เช่น นวด/สปา ของท้องถิ่น และนั่งสมาธิ เป็นต้น

3.ออกกำลังกายดี เล่นกีฬา และร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น ปั่นจักรยาน วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ดำน้ำ ปีนเขา และมวยไทย เป็นต้น
และ

4.แบ่งปันสิ่งดีๆ แบ่งปันความรู้ทั้ง 2 ทาง ท้องถิ่นแนะนำสินค้าและสถานที่อันซีน ทำกิจกรรมกับชุมชน อาสาสมัครเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน เช่น ปลูกป่า สอนหนังสือเด็ก และอาบน้ำช้าง เป็นต้น ที่สำคัญแต่ละจังหวัดต้องมีเรื่องราว เพื่อสร้างให้ประชาชนอยากมาท่องเที่ยว อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การรักษามาตรฐานที่ดี

“ถือเป็นการดึงทุกสิ่งที่โดดเด่นออกมาโชว์และจูงใจให้นักท่องเที่ยวคนไทยและคนต่างชาติ หลังเปิดประเทศได้เข้าไปเที่ยวในทุกจังหวัดมากขึ้น เราในฐานะเอกชนจะนำร่องปฏิบัติ เพื่อสร้างให้เห็นถึงผลที่จะเกิดขึ้น เราเชื่อว่าผู้ประกอบการหรือชุมชนสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ ยิ่งสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางเข้าไปยังสถานที่นั้นๆ เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเจอปัญหามาก รายได้ที่เคยมีกว่า 3 ล้านล้านบาท หายไปหมด และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด ก็เริ่มจากกลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือผู้ป่วยจัดเที่ยวหัวเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา เป็นต้น” นายกลินท์กล่าว

ทั้งนี้ หอการค้าเตรียมแผนให้คณะกรรมการเดินสายทำความเข้าใจกับสมาชิกทั่วประเทศให้จัดทำคู่มือหรือแพลตฟอร์ม แฮปปี้ โมเดล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศไทย ให้เกิดเป็นรูปธรรม เช่น มกราคม 2564 ผลักดันใน 7 พื้นที่ คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุย พัทยา เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ พร้อมกับเชื่อมโยงข้อมูลท่องเที่ยวและสิทธิประโยชน์ ผ่านแพลตฟอร์ม TAGTHAi (ทักทาย) และทีซีซี คอนเนคต์ (TCC Connect) ตามแนวทาง แฮปปี้ โมเดล โดยทั้งปี 2564 จะเชื่อมโยงข้อมูล 76 แหล่งท่องเที่ยวชุมชน และขยายผลเชื่อมโยงรองรับงานบริการ อาทิ สวนสนุก สปา สนามกอล์ฟ

แพลตฟอร์ม TAGTHAi จะเป็นตัวกลางสำคัญที่จะให้นักเที่ยวได้มีทางเลือกต่อการวางแผนท่องเที่ยว เกิดจากการคัดสรรจากภาคเอกชน โดยมีหน่วยงานรัฐทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เมื่อเข้าไปดูแอพพ์ TAGTHAi ก็จะได้เห็นรายละเอียดว่าแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค ที่มีกิน เที่ยว ที่พักตรงไหน ที่ขึ้นชื่อมีอะไรบ้าง เช่น กลุ่มจังหวัดภาคกลาง อาทิ ผักหวานป่าบ้านหอม (สระบุรี) ขนมเค้กปลาช่อน (สิงห์บุรี) แห่พระศรีอาริยเมตไตร วัดไลย์ (ลพบุรี) ล่องเรือชมวิถีชุมชนคลองจินดา (นครปฐม) ปั่นจักรยานบางกระเจ้า (สมุทรปราการ) ภาคตะวันออก อาทิ บ้านปลาธนาคาปู (ฉะเชิงเทรา) เดิน-วิ่งเส้นทางธรรมชาติเขายายดา (ระยอง) ภาคใต้ อาทิ แกงตอแมะ (สตูล) วิวาห์ใต้สมุทร (ตรัง) ภาคเหนือ อาทิ งานเทศกาลปีใหม่ม้ง (เพชรบูรณ์) เป็นต้น
ไม่ว่าภาคเอกชนหรือภาครัฐ ต่างก็เห็นพ้องว่าจะปลุกชีพเศรษฐกิจผ่านท่องเที่ยว อันดับแรก คือมุ่งไปที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ถือว่าเหมาะสม เพราะท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นตลาดมูลค่าสูงและเติบโต แบ่งเป็น เมดิคัล ทัวริซึ่ม จำนวนนักท่องเที่ยว 3.6 ล้านคน/ครั้ง รายได้จากการท่องเที่ยว 41,000 ล้านบาท การจ้างงาน 9,195 คน เวลเนส ทัวริซึ่ม จำนวนนักท่องเที่ยว 12.5 ล้านคนครั้ง รายได้จากการท่องเที่ยว 409,200 ล้านบาท การจ้างงาน 530,000 คน
ที่สำคัญประเทศไทยติดอันดับที่ได้รับการยอมรับเป็นเลิศในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด จนเกิดการติดเชื้อต่ำสุดประเทศหนึ่งในโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image