แบงก์ชาติ เผยเศรษฐกิจ ต.ค.หดตัวแรง หลังหมดปัจจัยหนุนชั่วคราว

แบงก์ชาติ เผยเศรษฐกิจ ต.ค.หดตัวแรง หลังหมดปัจจัยหนุนชั่วคราว จับตาออกมาตรการสกัดบาทแข็งเพิ่ม

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยประจำเดือนตุลาคม 2563 มีภาวะหดตัวในอัตราสูงขึ้น หากเทียบกับการหดตัวในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา เหตุมาจากปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวที่หมดลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนก่อน หลังปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษหมดลง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในภาพรวมยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการทยอยฟื้นตัว แต่แผ่วลงหากเทียบกับเดือนก่อน

“ทิศทางไตรมาส 4/2563 แรงส่งยังมีอยู่ แต่อาจไม่ได้แรงมากเท่าไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เนื่องจากภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ฟื้นตัวได้มากจากไตรมาส 2 ที่เป็นช่วงล็อกดาวน์ ประกอบกับมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนด้วย โดยมองว่าจะยังฟื้นตัวได้ แต่อาจไม่ได้ดีขึ้นรุนแรงมากนัก ส่วนมาตรการที่อยากเห็นออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม มีทั้งมาตรการระยะสั้น และระยะยาว เพื่อเตรียมพร้อมให้ทุกอย่างสอดรับกับภาวะเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป ในส่วนของอัตราค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น หากดูข้อมูลนับตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเฉลี่ยกว่า 2.9% ซึ่ง ธปท. มีการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ จะมีการแถลงถึงแนวทางในการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติม ในส่วนของแพคเกจระบบนิเวศอัตราแลกเปลี่ยนขนาดใหญ่” นางสาวชญาวดี กล่าว

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ ยังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่หดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 12.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัว 9.9% โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสินค้า ทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน สอดคล้องกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัว คล้ายกับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวลง เพราะการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า ในส่วนของการจ่ายค่าจ้างบุคคล แต่อุปกรณ์ยังสามารถทำได้ดี ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูง จากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ แม้ในเดือนตุลาคม จะมีการเปิดรับต่างชาติเข้ามาภายใต้วีซ่าประเภทพิเศษ (เอสทีวี) แล้ว แต่ยังประเมินผลได้ยาก เพราะยังมีจำนวนน้อย

Advertisement

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากการใช้มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ สำหรับตลาดแรงงานในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งด้านการจ้างงานและรายได้ แต่ยังเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากทั้งอัตราการว่างงาน และสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อย ตามการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image