จอดป้ายประชาชื่น : รถเก่าแลกใหม่เจอ‘ตอ’

จอดป้ายประชาชื่น : รถเก่าแลกใหม่เจอ‘ตอ’ เป็นข่าวครึกโครม เมื่อภาครัฐ

จอดป้ายประชาชื่น : รถเก่าแลกใหม่เจอ‘ตอ’

เป็นข่าวครึกโครม เมื่อภาครัฐออกมาระบุว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบ โครงการรถแลกแจกแถม หรือ รถเก่าแลกใหม่ ไม่เกิน 1 แสนคัน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ แต่ในข้อเท็จจริงของนโยบายนี้กลับยังไม่สะเด็ดน้ำ 100%

ข่าวนี้ทำตลาดรถช็อกทันที คนที่กำลังจะซื้อต่างสอบถามข้อมูลจากโชว์รูม ส่วนคนที่จองแล้วต่างทิ้งใบจองกันเป็นแถว บรรดาค่ายรถตั้งคำถามกับภาครัฐ เรียกร้องให้สร้างความชัดเจนต่อนโยบายนี้

หากยังจำกันได้ประเด็นรถเก่าแลกใหม่เคยเป็นข่าวเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต้องการให้ภาครัฐช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ที่ทรุดอย่างหนักจากผลกระทบโควิด-19 จนกำลังซื้อหายเกลี้ยง

Advertisement

เอกชนอยากให้รัฐสนับสนุนรถยนต์ทุกชนิด และให้เงินสนับสนุนเช่นเดียวกับญี่ปุ่น แต่รัฐไม่ซื้อนโยบายนี้ เพราะประเทศกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 จนต้องกู้เงินมาฟื้นเศรษฐกิจ การนำเงินสนับสนุนรายอุตสาหกรรมจึงไม่เหมาะ

ข่าวนี้เงียบหายไป ก่อนจะมีข่าวจาก ศบศ.

มาดูข้อเท็จจริงของนโยบายนี้กัน เบื้องต้นพบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้นำรถเก่ามาแลกรถยนต์ใหม่กลุ่มเครื่องยนต์ยูโร 5 นั่นคือ อีโคคาร์ และกลุ่มอีวี ประกอบด้วย ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด และอีวี 100% ที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนอัตราภาษีที่ช่วยเหลือประชาชนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของมูลค่ารถยนต์ใหม่ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท คำนวณในเนื้อภาษีซึ่งเป็นอัตราก้าวหน้า ไม่สามารถคำนวณภาษีกับราคารถได้เลย นอกจากนี้ค่ายรถยนต์จะลดราคาให้ผู้ซื้ออีก 2% จากราคารถ ขณะเดียวกันค่ายรถต้องควัก 1% เพื่อบริหารจัดการซากรถเก่า

Advertisement

วิธีคำนวณภาษีเงินได้ไม่แตะภาษีสรรพสามิต เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศ คุ้มค่ากว่าแบบกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา แต่กระทรวงการคลังค่อนข้างไม่เห็นด้วย เพราะส่วนลดของประชาชนอาจไม่มาก ขณะเดียวกันการคำนวณภาษีมีความซับซ้อน ซ้ำยังพบว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่เอื้อ!!

ความซับซ้อนดังกล่าวคือ “ตอ” สำคัญที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถลุยนโยบายได้ทันที ขณะที่ผู้ซื้อจดจ่อโครงการนี้จนตลาดรถช็อก กระทบกับงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2020 วันที่ 2-13 ธันวาคมนี้เต็มๆ ซ้ำเติมอุตสาหกรรมรถยนต์ยิ่งขึ้น

เมื่อนโยบายยังไม่ตกผลึก แต่คนบางกลุ่มเร่งรัดเสนอ ศบศ. ความซวยจึงตกกับกระทรวงการคลังต้องเร่งหาทางออกเรื่องนี้โดยเร็ว!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image