โควิดเสี่ยงระบาดระลอก2 รัฐเดิมพันดัน‘คนละครึ่ง’ ฮีโร่ประคอง ศก.

โควิดเสี่ยงระบาดระลอก2 รัฐเดิมพันดัน‘คนละครึ่ง’ ฮีโร่ประคอง ศก.

ลมหนาวสิ้นปีถือเป็นสัญญาณนับถอยหลังสำหรับปีมหาโหด 2563 ปีที่ประเทศไทยและทั่วโลกต่างเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนรัฐบาลตัดสินใจประกาศมาตรการฉุกเฉินปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) ช่วงเดือนเมษายน เพื่อควบคุมสถานการณ์

การปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง ส่งผลให้เม็ดเงินในระบบหายไปจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนต่างไม่กล้าใช้จ่าย และเมื่อคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้วก็ยังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการส่งออก รัฐบาลจึงต้องพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงกับก่อนมีสถานการณ์โควิด-19

⦁รวมมิตรมาตรการกระตุ้นศก.

จะเห็นว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 โดยโครงการที่โด่งดังในช่วงนั้นคือ โครงการชิมช้อปใช้ ที่กระตุ้นการใช้จ่ายและส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามจังหวัด จากเงินงบประมาณปี 2563 ประมาณ 19,000 ล้านบาท มีผู้ได้รับสิทธิประมาณ 15 ล้านคน

Advertisement

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดจนต้องล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้มีคนต้องหยุดงานและขาดรายได้จำนวนมาก รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเยียวยาประชาชน ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน สำหรับแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้รับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 โดยมีผู้ได้สิทธิรับเงินเยียวยาประมาณ 15 ล้านคน

หลังจากช่วงคลายล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มดำเนินได้ แต่รายได้จากต่างประเทศหายไปเนื่องจากยังคงปิดประเทศอยู่ เพราะยังมีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในต่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชน ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน ซึ่งมีการขยายต่ออีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

2.โครงการคนละครึ่ง เหมาะสำหรับผู้มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี และเป็นการเพิ่มรายได้ให้ร้านค้ารายย่อย โดยภาครัฐบาลจะร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือ 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน ในระยะที่ 1 (เฟส 1) สิทธิลงทะเบียน 10 ล้านคน วงเงินคนละ 3,000 บาท ตั้งวันที่23 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 และขยายเป็นระยะที่ 2 (เฟส 2) ขยายสิทธิเพิ่มอีก 5 ล้านคน รวมเป็น 15 ล้านคนวงเงิน 3,500 บาท ระยะเวลาใช้จ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม- 31 มีนาคม 2564

Advertisement

3.โครงการช้อปดีมีคืน นำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบหรือใบเสร็จรับเงินหลังใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท เหมาะสำหรับผู้มีรายได้ที่เสียภาษี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาในภาคการท่องเที่ยว จึงมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่รัฐบาลจะช่วยสมทบเงินสนับสนุนให้ประชาชนเที่ยวภายในประเทศ ทั้งค่าที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน ในอัตรา 40% และโครงการกำลังใจ จัดทำเพื่อขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์

ขณะที่ปัญหาการว่างงาน รัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้ที่จบการศึกษาใหม่ในช่วง ปี 2562-2563 อายุไม่เกิน 25 ปี จำนวนกว่า 4.5 แสนคน โดยรัฐบาลสนับสนุนโดยการช่วยจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่ง หรือ 50% โดยมีเกณฑ์การจ่ายเงินตามวุฒิการศึกษา สูงสุดระดับปริญญาตรี ฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อเดือน รัฐบาลช่วยออก 7,500 บาทต่อเดือน และบริษัทหรือผู้ประกอบการที่จ้างงานจ่ายส่วนต่างที่เหลือ โดยกำหนดระยะเวลาในการจ้างงาน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2564

นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือและเสริมสภาพคล่องในภาคธุรกิจ มาตรการสินเชื่อและมาตรการพักชำระหนี้อัตโนมัติสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธุรกิจเอสเอ็มอี) เป็นระยะเวลา 6 เดือน 23 เมษายน-22 ตุลาคม 2563 จำนวน 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งมีลูกหนี้ที่พร้อมชำระหนี้แล้ว 60% จากจำนวน 1.05 ล้านบัญชี

นอกจากนี้มีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการและช่วยรักษาระดับการจ้างงาน

⦁‘คนละครึ่ง’ปังเปิดต่อเฟส2

จากมาตรการทั้งหมด ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้โครงการคนละครึ่ง คือโครงการที่โดนใจ มาแรงที่สุด เพราะผลจากการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังค์ สำหรับค่าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน ได้กระจายรายได้เพิ่มจริงให้ร้านค้ารายย่อย ร้านรถเข็น หาบเร่ แผงลอย ผ่านแอพพลิเคชั่นถุงเงินในวันถัดไปหลังการใช้จ่าย ขณะเดียวกันการจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นยังเป็นผลทางอ้อมที่ให้ประชาชนได้เรียนรู้และพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสังคมไร้เงินสดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม โครงการคนละครึ่งในช่วงแรกกระแสเบามาก เพราะช่วงแรกที่เริ่มลงทะเบียนหลายคนให้ความเห็นว่าการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นยุ่งยาก ต้องมีทั้งสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้จ่าย นอกจากนี้ร้านค้าก็กลัวการเก็บข้อมูลเพื่อเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากภาครัฐ แต่เมื่อโครงการเริ่มไปได้ไม่กี่วัน เกิดกิจกรรมการใช้ผ่านโครงการคึกคัก ทำให้ทั้งประชาชนและร้านค้าตัดสินใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมากยิ่งขึ้นทำให้รัฐบาลปลื้มอกปลื้มใจอย่างมาก

ความปังของโครงการเห็นได้ชัดจากเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 มีประชาชนสนใจลงทะเบียนจนเต็ม 10 ล้านสิทธิ หลังเปิดรับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 แต่ผู้ลงทะเบียนน้อย ร้านน้อย จนเมื่อเริ่มโครงการ 23 ตุลาคม กระแสก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมามีการเปิดลงทะเบียนเพิ่มเติมรอบที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 2.5 ล้านสิทธิ และรอบที่ 3 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน จำนวน 7.2 แสนสิทธิ พบว่ามีผู้สนใจลงทะเบียนจำนวนมากจนสิทธิการลงทะเบียนเต็มอย่างรวดเร็วหลังจากเปิดลงทะเบียน และยังมีคนที่ผิดหวังไม่สามารถลงทะเบียนได้ทันและรอการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ จนถึงขนาดเรียกร้องให้ขยายโครงการคนละครึ่งเป็นระยะที่ 2 (เฟส 2) ด้วย

จากกระแสตอบรับที่ดีมากของโครงการคนละครึ่งเฟส 2 ที่มีประชาชนสนใจ รวมถึงร้านค้าที่อยากเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 จึงมีมติเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลังเรื่องโครงการคนละครึ่งระยะที่ 2 (เฟส 2) ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินการเช่นเดียวกับระยะแรกคือภาครัฐบาลจะร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือ 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน

รายละเอียดเพิ่มเติม คือ เปิดลงทะเบียนรับสิทธิเพิ่มเติมอีก 5 ล้านคน โดยจะได้รับวงเงิน 3,500 บาทต่อคน ซึ่งผู้ที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการคนละครึ่งระยะที่ 1 (เฟส 1)จากการไม่ใช้สิทธิในระยะเวลาที่กำหนดสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเฟส 2 ได้ ส่วนผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งเฟส 1 จะได้เพิ่มอีกคนละ 500 บาท โดยเริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม- 31 มีนาคม 2564 รวมทั้งขยายระยะเวลาการใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งเฟส 1ออกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ด้วย โดยไม่มีการตัดสิทธิของเงิน 3,000 บาท ที่ได้รับในโครงการเฟส 1 แต่อย่างใด ส่วนวันที่เปิดลงทะเบียนและยืนยันสิทธิรับเงินเพิ่มเติม 500 บาทนั้น คือวันที่ 16 ธันวาคมนี้

ขณะเดียวกัน ศบศ.ยังขยายต่อมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564 จึงถือเป็นของขวัญของรัฐบาลที่จะมอบให้ประชาชน เพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่ของปี 2564 และเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งรัฐบาลคาดหวังทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

จากมาตรการรัวๆ ที่ออกมาโดยเฉพาะคนละครึ่ง ทำให้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มั่นใจว่า โครงการคนละครึ่งที่เริ่มใช้จ่ายในเดือนตุลาคมจะแสดงผลได้ชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมของปี 2564 ขยายตัวเพิ่ม 4-4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี)

⦁เอกชนหนุนดันศก.หมุนเวียนแสนล.

ฟากนักวิชาการอย่าง ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นว่า โครงการคนละครึ่งถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงและช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ทำให้เกิดความคึกคักทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะร้านค้าทั่วไป และธุรกิจเอสเอ็มอี

การขยายโครงการคนละครึ่ง ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจาก 60,000 ล้านบาท กลายเป็นมากกว่า 105,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เติบโตได้เพิ่ม 1-1.5% ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 จะดูมีชีวิตชีวาขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังสามารถมีเงินเก็บไว้เป็นกระสุน สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของปี 2564 เพิ่มเติมได้หากมีความจำเป็น

งบประมาณที่เพิ่มขึ้นจาก 30,000 ล้านบาท เป็น 52,500 ล้านบาท ที่รัฐบาลช่วยสมทบตามโครงการ รวมกับส่วนที่ประชาชนจะออกเอง มากกว่าอีก 52,500 ล้านบาท รวมกันได้มากกว่า 105,000 ล้านบาทนั้นเพียงพอสำหรับเศรษฐกิจฟื้นฟูไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นต้องขยายโครงการต่อ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเดินทางเข้ามาไม่ได้ จึงต้องกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ได้มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น 15 ล้านสิทธิ ที่จะเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง รวมกับมีส่วนที่ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน กลายเป็นเกือบ 30 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนที่พอดี ไม่ได้ใช้งบประมาณมากจนเกินไป และใช้อย่างครอบคลุมแล้ว

“ธนวรรธน์” ยังประเมินการใช้จ่ายของประชาชนว่า จุดสำคัญคือ เมื่อได้วันละ 300 บาท คำนวณง่ายว่า ทานอาหารได้ มื้อละ 100 บาท 3 มื้อต่อวัน หรือจะใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคสะสมไว้ได้ สัปดาห์ละ 1,500 บาท เพราะฉะนั้น วงเงินที่ใช้จ่าย 300 บาทต่อวันถือว่าเหมาะสมแล้ว เพราะเจตนาของโครงการคือต้องการให้ประชาชนใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หมายความว่าควรใช้สำหรับซื้ออาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพ

“ถ้าหากขยายวงเงินต่อวันเพิ่มมากขึ้น อาจไปเร่งพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไม่จำเป็นในแต่ละวันก็ได้ รวมทั้งรัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการใช้จ่ายอีก 3 เดือน มีเวลาให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นใช้จ่ายวันละ 300 บาทก็เหมาะสมแล้ว” ธนวรรธน์ระบุ

ด้านความเห็นจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย นำโดย กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นต่อมาตรการรัฐว่า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากประเทศพึ่งพาเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการในสัดส่วนที่สูงคิดเป็นมากกว่า 10% ของจีดีพี

ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงทำได้อย่างจำกัด รวมถึงตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง ภาครัฐจึงยังต้องเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกำลังซื้อของประชาชนให้มีความต่อเนื่องเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจประเทศ อาทิ คนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน

⦁รัฐยันเงินกระตุ้นพอ-เอกชนแนะกู้เพิ่ม

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐกำลังเดินไปได้สวย แต่หลายคนเริ่มแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ปัจจุบันเริ่มกลับมาน่ากังวลอีกครั้งหลังมีกรณีกลุ่มสาวไทยติดเชื้อจากการเดินทางไปทำงานในประเทศเมียนมา ทำให้ไทยมีความเสี่ยงเกิดโควิด-19 รอบสอง จนหลายคนกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาทรุดอีกครั้ง ส่งผลต่อวงเงินงบประมาณที่มีว่าจะเพียงพอหรือไม่

เรื่องนี้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า งบประมาณในส่วนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 1 ล้านล้านบาท ส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท และส่วนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 5.5 แสนล้านบาทนั้น ยังมีเพียงพอสำหรับใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีการกู้เพิ่มเติม รวมทั้งเศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวได้ดี ทั้งการส่งออกที่ติดลบน้อยลง และการท่องเที่ยวภายในประเทศก็ได้รับการตอบรับที่ดีด้วย

สอดคล้องกับกระทรวงการคลังออกมายืนยันเช่นกันว่า ไม่มีแผนการกู้เงิน เนื่องจากอยู่ในช่วงต้นปีงบประมาณ รวมทั้งทางกระทรวงการคลังมีแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของกรมต่างๆ จึงน่าจะจัดเก็บรายได้ในปี 2564 ได้ตามเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณประจำปี 2564

ส่วนด้านงบประมาณประจำปี 2564 จำนวนประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท เป็นการทำงบประมาณแบบขาดดุล โดยขณะนี้มีรายได้สุทธิที่ 2.677 ล้านล้านบาท และมีการกู้ชดเชยการขาดดุลประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามปกติ

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งแบ่งออกเป็นใช้ใน 3 ส่วนหลักคือ การแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 การช่วยเหลือและเยียวยา ประชาชน เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ด้านการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้นมีกรอบวงเงิน 5.55 แสนล้านบาท มีโครงการสำคัญที่อนุมัติใช้เงินในส่วนนี้ คือ โครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่ใช้งบไปประมาณ 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้มีมาตรการเยียวยากลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มเปราะบาง (ผู้ปกครองเด็กแรกเกิด ถึง 6 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ) ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุดพบว่า วงเงินที่อนุมัติแล้ว 3.65 แสนล้านบาท คิดเป็น 65% ของกรอบวงเงิน ส่วนที่มีการเบิกจ่ายแล้ว 3.03 แสนล้านบาท

ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท โครงการที่ใช้จ่ายในโครงการนี้ อาทิ โครงการสนับสนุนการจ้างงานนักศึกษาที่จบใหม่ โครงการคนละครึ่ง โครงการกำลังใจ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งข้อมูลล่าสุดจาก สศช. มีวงเงินที่อนุมัติแล้ว 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 30% ของกรอบวงเงินทั้งหมด ซึ่งมีการเบิกจ่ายแล้วประมาณ 2.6 พันล้านบาท

แม้จะออกมายืนยันเรียงหน้ากระดาน แต่ผู้นำภาคเอกชน สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองอีกมุม ระบุว่า เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทไม่เพียงพอ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังมีแนวโน้มที่ยืดยาวออกไป จึงอยากให้รัฐบาลเตรียมเงินกู้สำรองใช้ดูแลในทุกภาคส่วน เพื่อความอุ่นใจ โดยออก พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มอีก 1-3 ล้านล้านบาท ซึ่งประเทศไทยสามารถทำได้เนื่องจากเครดิตของประเทศยังดีอยู่ และให้เป็นการกู้จากต่างประเทศ เพราะหากกู้จากภายในประเทศจะเป็นการดูดสภาพคล่องและต้องแย่งแหล่งเงินกู้กับภาคเอกชน

ความเสี่ยงของโควิด-19 รอบนี้ ต้องฝากความหวังกับระบบสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยคงโดนทุบอีกครั้ง หากเป็นเช่นนั้นจะคนละครึ่งจะเฟสไหนก็คงเอาไม่อยู่เหมือนกัน!!

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image