ได้เวลา ‘หอมมะลิไทย’ ทวงแชมป์ข้าวโลก

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีของคนไทย เมื่อ ข้าวหอมมะลิไทย ประกาศศักดา คว้ารางวัลชนะเลิศ เวิลด์ เบสต์ ไรซ์ อวอร์ด 2020 (World’s Best Rice Award 2020) ข้าวที่ดีที่สุดในโลกปี 2020

ข่าวดีนี้ได้รับการเปิดเผยจาก นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว จากการประชุมผู้ค้าข้าวทั่วโลกที่จัดขึ้นทุกปี ในปีนี้ตรงกับวันที่ 1-3 ธันวาคม 2563 ในวันสุดท้ายของงานมีการประกาศผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก

ปีนี้ประเทศที่ส่งข้าวเข้าประกวด ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม กัมพูชา จีน และสหรัฐ มีข้าวตัวอย่างกว่า 20 ตัวอย่างส่งประกวด แต่ของไทยส่งไปเพียง 1 ตัวอย่าง คือข้าวหอมมะลิ 105 เพิ่งเก็บเกี่ยวเมื่อเดือนพฤศจิกายนนี้ ปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน

สำหรับผู้เข้ารอบสุดท้าย มี 3 ชาติอาเซียน คือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา และในที่สุดข้าวหอมมะลิไทยก็ได้รับคัดเลือกเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก

Advertisement

การตัดสินจะมีคณะกรรมการและเชฟที่มีชื่อเสียงระดับนานานาชาติร่วมกันตัดสิน เกณฑ์การตัดสินจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ลักษณะของข้าวก่อนหุง และหลังหุงสุก ก่อนหุงจะดูรูปลักษณ์ของข้าวมีความสวยงาม ความสะอาดมากน้อยเพียงใด และหลังหุงสุกจะให้เชฟทดลองชิมรสชาติ ทั้งกรรมการและเชฟจะตัดสินแบบ ไบลด์ เทสต์ (Blind Test) ไม่มีการบอกก่อนว่าข้าวไหนเป็นของประเทศไหน จากนั้นกรรมการและเชฟจะรวมคะแนนก่อนหุงและหลังหุง ปรากฏว่าข้าวไทยได้คะแนนสูงสุดทั้งเกณฑ์ก่อนหุงและหุงแล้ว

จากสถิติที่ผ่านมามีการแข่งขันทั้งหมด 12 ครั้ง ข้าวไทยชนะเลิศ 6 ครั้ง เริ่มจากปี 2552 ข้าวไทยเปิดตัวสวย คว้าแชมป์ปีแรกและต่อเนื่องปีที่สอง ในปี 2553 ส่วนปี 2554 จนถึงปี 2556 ไทยต้องเสียแชมป์ให้กับเมียนมา, กัมพูชา และกัมพูชาชนะร่วมกับสหรัฐ ตามลำดับ ปี 2557 ไทยกลับมายืนตำแหน่งแชมป์ได้สำเร็จ แต่เป็นการชนะร่วมกับกัมพูชา ปี 2558 ข้าวจากสหรัฐขึ้นแชมป์ ปี 2559 และปี 2560 ไทยกลับมายืนหนึ่งติดต่อกัน กระทั่งปี 2561 และปี 2562 ต้องเสียแชมป์ให้กับกัมพูชา และเวียดนาม กระทั่งในปีนี้ที่ไทยกลับมาทวงแชมป์สำเร็จ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ข้าวหอมมะลิไทยสามารถคว้าแชมป์รางวัลชนะเลิศ สามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้ามากขึ้น ที่ผ่านมาข้าวหอมมะลิไทยสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดไปจำนวนมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งด้านราคาอย่าง เวียดนาม กัมพูชา ราคาข้าวหอมมะลิไทยมีราคาค่อนข้างสูงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการที่ไทยประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้มีผลผลิตออกมาน้อย ราคาข้าวหอมมะลิไทยไปอยู่ที่ตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวหอมมะลิกัมพูชาตันละ 900 ดอลลาร์ ข้าวหอมมะลิเวียดนามตันละ 650-750 ดอลลาร์ แต่ตอนนี้ราคาข้าวหอมมะลิไทยเหลืออยู่ที่ 950 ดอลลาร์ เพราะมีผลผลิตมากขึ้น ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

ถือเป็นข่าวดีของคนไทย เพราะข้าวไทยได้เวลาดังไกลไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง

นายชูเกียรติกล่าวว่า เรื่องแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทย 2563-2567 จะเน้นเรื่องพันธุ์ข้าว เพราะที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย ทำให้ไทยหยุดอยู่กับที่มาอย่างยาวนาน ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวต่อเนื่อง จนได้ข้าวขาวพันธุ์พื้นนุ่มที่มีราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิอย่างมาก ตลาดผู้บริโภคจึงมีความต้องการสูงมาก เพราะมีสัมผัสเหมือนข้าวหอมมะลิ เพียงแต่ไม่มีกลิ่นหอมเท่า ทำให้ไทยสูญเสียตลาดการส่งออกใหญ่ๆ อย่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ใหม่นี้ จะสามารถเพิ่มพันธุ์ข้าว แบ่งแยกสายพันธุ์ข้าวให้มากขึ้น ให้ดีเทียบเท่าหรือดีกว่าของประเทศคู่แข่ง อีกทั้งต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีเพียง 450 กิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่ประเทศเวียดนามและอินเดีย ทำได้ 800 กิโลกรัม/ไร่ จึงเป็นข้อเสียเปรียบที่ไทยไม่สามารถผลิตข้าวในปริมาณมากได้

“ในอนาคตไทยต้องก้าวไปข้างหน้า ข้อเสนอคือ 1.จะต้องมีพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก อย่างข้าวขาวพื้นนุ่ม 2.ต้องเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ให้สูงขึ้น ช่วยลดต้นทุนเกษตรกร และทำให้ราคาแข่งขันในตลาดโลกได้ 3.ต้องลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์

จากที่ใช้ขนส่งทางรถมากกว่า 90% ขณะที่เวียดนามใช้ขนส่งทางน้ำซึ่งมีต้นทุนถูกกว่ามากเป็นหลัก” นายชูเกียรติกล่าว และว่า ที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ต้องทำทันที ไม่เช่นนั้นข้าวไทยจะสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขัน เพราะคู่แข่งแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ

นายชูเกียรติกล่าวถึงการวิจัยข้าวว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุ่มเงินจำนวนมากกับการอุดหนุนราคาข้าวแก่เกษตรกร ทั้งการรับจำนำข้าว การรับประกันรายได้ แต่ไม่มีการอุดหนุนการเพิ่มประสิทธิภาพภาคการผลิตเลย อย่างรัฐบาลเวียดนามสนับสนุนเงินด้านการวิจัยข้าว ปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท ส่วนรัฐบาลไทยสนับสนุนเงินด้านนี้ปีละไม่ถึง 100 ล้านบาท ตอนนี้การส่งออกข้าวไทยอยู่ในช่วงขาลงอย่างมาก จากแต่ก่อนส่งออกได้มากถึงปีละ 10 ล้านตัน แต่ปีนี้ส่งออกได้แค่ 5-6 ล้านตันเท่านั้น และถ้าไม่ทำอะไรมันจะตกลงเรื่อยๆ การมีแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทย เน้นเรื่องของภาคการผลิตมากขึ้น มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย พัฒนาพันธุ์อย่างหอมมะลิทำไงให้หอมยิ่งขึ้น ให้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมมีเทคโนโลยีดีขึ้นทำได้ไม่ยากเหมือนในอดีต ขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะให้ความสนใจไหม และอีกเรื่องที่ภาคเอกชนอยากให้แก้กฎระเบียบการรับรองพันธุ์ข้าว จากปัจจุบันต้องได้รับการรับรองจากกรมการข้าวเท่านั้น โดยกรมมีกระบวนการรับรองพันธุ์ข้าวที่ค่อนข้างใช้เวลานาน 6-7 ปี ขณะที่ไทยมีสถาบันวิจัยข้าวอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีการวิจัยสายพันธุ์ข้าวใหม่จำนวนมาก แต่ไม่สามารถนำมาปลูกได้อย่างแพร่หลาย จึงอยากให้มีความยืดหยุ่นกฎระเบียบเพื่อให้ไทยไม่ต้องตามหลังประเทศอื่น

ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการที่ข้าวไทยได้รางวัลชนะเลิศในการประกวดข้าวโลกครั้งนี้ถือเป็นผลงานร่วมกันของคนไทยทุกคนและทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร โรงสี ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาล โดยวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันพ่อแห่งชาติและเป็นวันชาติ รางวัลที่ประเทศไทยได้รับครั้งนี้จะเป็นการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยเพราะทรงมีคุณูปการเป็นอย่างยิ่งกับวงการข้าวไทย พระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและการพัฒนาข้าวไทย” ของเรา ถือว่าเป็นการนับหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของการประกาศยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 2563-2567 ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว มีการตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนว่าใน 5 ปีนี้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตการตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก

ความตั้งใจดีของภาคเอกชนเหมือนจะสอดคล้องกับความตั้งใจของภาครัฐ จะเกิดขึ้นได้จริงภายใน 2567 หรือไม่ ต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image