ยันประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนไม่ดูราคารับซื้อพืชพลังงาน หวั่นกดราคาเกษตรกร

“สุพัฒนพงษ์” ย้ำโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อศก.ฐานรากนำร่อง 150 เมกะวัตต์คัดเลือกโดยประมูลแข่งขันเฉพาะตัวโรงไฟฟ้า ไม่เกี่ยวกับราคารับซื้อ จี้ดูแลไม่ให้ทิ้งโครงการซ้ำรอย SPP Hybrid Firm ขณะ 2-4 สมาคมฯเครือข่ายพลังงานชุมชนเร่งหารือเตรียมทำหนังสือถึงนายกฯในฐานะประธานกพช.ค้านใช้วิธีคัดเลือกแบบแข่งขัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดที่จะเปิดรับข้อเสนอซื้อไฟฟ้าจำนวน 150 เมกะวัตต์เป็นโครงการนำร่องก่อนโดยเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ใช้รูปแบบคัดเลือกด้วยการเปิดประมูลแข่งขัน เฉพาะส่วนของต้นทุนโรงไฟฟ้าแต่ไม่ได้เปิดให้แข่งขันด้านราคารับซื้อไฟฟ้า เพื่อป้องกันการกดราคารับซื้อพืชพลังงานในการนำมาเป็นเชื้อเพลิงกับเกษตรกรคาดว่าจะเปิดรับซื้อได้ช่วงต้นปี 2564 ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลว่าแนวทางดังกล่าวอาจนำไปสู่ปัญหาการทิ้งโครงการซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการ SPP Hybrid Firm นั้นเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้ทางคณะทำงานพิจารณาร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดูแลประเด็นดังกล่าวที่จะต้องมีเงื่อนไขการกำหนดเงินชดเชยเคืนให้กับภาคเกษตรกร หรืออื่นๆ ที่เหมาะสม ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรก็ต้องให้ศึกษาเสร็จก่อน โดยได้เน้นย้ำให้เข้มงวดในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

แหล่งข่าวจากสมาคมเครือข่ายพลังงานชุมชน กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มสมาชิกประมาณ 2-4 สมาคมฯที่เกี่ยวข้องอยู่ ระหว่างการหารือเพื่อที่จะทำหนังสือยื่นถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เกี่ยวกับข้อเสนอแนวทางการคัดเลือกโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนำร่อง 150 เมกะวัตต์โดยจะสรุปรายชื่อสมาคมฯที่จะเข้าร่วมยื่นข้อเสนอในเร็วๆ นี้เพื่อไปยื่นหนังสือในวันที่ 14 ธันวาคม ทั้งนี้หากรัฐยังยืนยันในการแข่งขันด้านราคา ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง และธุรกิจในภูมิภาคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฐานรากของประเทศจะไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทใหญ่หรือบริษัทมหาชนที่มีความเข้มแข็งทางการเงินมากกว่าได้ ตัวอย่างการแข่งขันด้านราคาในโครงการ SPP Hybrid Firm เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 มีการเสนอราคาที่ต่ำเกินจริงซึ่งพบว่ามีผู้ชนะประมูล 17 โครงการ แต่มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้า(PPA )เพียง 3 รายเท่านั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ฝ่ายราชการไม่ต้องการให้มีการคัดเลือกวิธีที่ไม่ใช่เปิดประมูลเนื่องจากอาจเกิดปัญหาการล็อบบี้ได้เช่นกันและอาจนำไปสู่การฟ้องร้องฝ่ายปฏิบัติงานกลายเป็นปัญหาอีก ดังนั้นวิธีประมูลจึงเป็นทางเลือกที่ดีสุดในความโปร่งใส สำหรับฝ่ายปฏิบัติงาน ส่วนเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ปัญหาที่เอกชนกังวลก็กำลังพิจารณาที่จะกำหนดเกณฑ์ในการกำหนดบทลงโทษกรณีมีการทิ้งโครงการหรือไม่อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image